คลอง หมายถึง ทางน้ำ หรือลำน้ำที่เกิดขึ้นเองหรือขุดเชื่อมกับแม่น้ำหรือทะเล , ทาง, แนว (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542, 226) ส่วนในทางระบบนิเวศวิทยาหมายถึง แหล่งน้ำหรือทางน้ำที่เชื่อมต่อกันระหว่างแหล่งน้ำสองแห่งให้ไหลติดต่อถึงกันได้ อาจเป็นแม่น้ำกับแม่น้ำ หรือบึงและหนองน้ำต่าง ๆ กับแหล่งน้ำอื่น ซึ่งรวมถึงทะเลด้วย อย่างไรก็ตาม คลองจัดเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินสำหรับให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน
การตั้งชื่อคลองในสมัยก่อนจะตั้งให้คล้องจองกันเช่น คลองผดุงกรุงเกษม คลองเปรมประชากร คลองนครเนื่องเขต คลองประเวศบุรีรมย์ คลองอุดมชลธาร ในที่นี้จะกล่าวถึงคลองสำคัญ ได้แก่
คลองหลอด ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เชื่อมระหว่างคลองคูเดิมและคลองรอบกรุงเพื่อประโยชน์ทางยุทธศาสตร์และคมนาคม ปัจจุบันเรียกเป็น 2 คลองว่าคลองหลอดวัดราชนัดดา และคลองหลอดวัดราชบพิธหรือคลองสะพานถ่าน
คลองมหานาค ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้าที่สำคัญ โดยเฉพาะบริเวณสี่แยกมหานาค เป็นบริเวณเรือสินค้าต่าง ๆ มาชุมนุมค้าขายกันมาก
คลองโอ่งอ่าง เป็นคลองคูเมืองที่มีส่วนสำคัญในการป้องกัน ที่ชื่อโอ่งอ่างเป็นเพราะปากคลอง มีเรือพวกมอญสามโคก เมืองปทุมธานีบรรทุกโอ่งมาจอดขายประจำ
คลองแสนแสบ ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นคลองที่ขุดต่อจากคลองมหานาคไปทางใต้ผ่านคลองบางกะปิ หัวหมากบางขนาก ไปออกแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา คลองแสนแสบมีความสำคัญทางเศรษฐกิจมาก เพราะเป็นคลองเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง
คลองผดุงกรุงเกษม ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ปัจจุบันเป็นแหล่งชุมนุมค้าขาย เช่นบริเวณเทเวศร์และมหานาค
คลองเปรมประชากร เป็นคลองแรกที่ขุดในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นคลองเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าด้วยกัน
คลองประปา ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยขุดขึ้นเพื่อเป็นคลองส่งน้ำตามโครงการชลประทาน เพื่อให้มีน้ำประปาใช้ในกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันใช้ในกิจการของการประปานครหลวง
คลองบางกอกน้อยและคลองบางกอกใหญ่ กลายมาจากคลองแม่น้ำอ้อมซึ่งหมายถึงเส้นทางสายเดิมของแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากเป็นตอนที่อ้อมมาก ในสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงขุดคลองลัดร่นระยะทางตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อยถึงปากคลองบางกอกใหญ่ หรือแม่น้ำเจ้าพระยาตอนที่ผ่านสถานีรถไฟธนบุรีจนถึงป้อมวิไชยประสิทธิ์ในปัจจุบัน คลองบางกอกใหญ่หรือคลองบางหลวง ปากคลองแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งขวาของป้อมวิไชยประสิทธิ์ไปบรรจบคลองบางขุนศรีบริเวณปากคลองภาษีเจริญ มีคลองสำคัญไหลเชื่อมต่อ คือ คลองบ้านสมเด็จ คลองบางไส้ไก่ คลองสำเหร่คลองบางน้ำชน คลองบางสะแกและคลองด่าน
คลองภาษีเจริญ ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 อยู่ในเขตภาษีเจริญเริ่มปากคลองที่บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่และคลองบางขุนศรีมาบรรจบกันบริเวณวัดปากน้ำไปออกแม่น้ำท่าจีนที่ตำบลดอนไก่ดี จังหวัดสมุทรสาคร
นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมาการคมนาคมเปลี่ยนแปลงไปมาก การขุดคลองเพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรยุติลง มีการสร้างถนนแทนและพาหนะที่สำคัญคือรถ คลองหลายคลองถูกถมมาสร้างเป็นถนน เช่นคลองสาธร คลองขวาง คลองถม หรือถูกใช้เป็นที่ทิ้งขยะหรือที่ระบายน้ำเน่าเสีย
ในสมัยรัชกาลที่ 9 ได้มีการกำหนดชื่อคลองสำคัญ 16 คลองที่จะต้องอนุรักษ์ไว้ตามมติครม. เมื่อ
วันที่ 13 มิถุนายน 2510 และใน พ.ศ. 2525 ในวาระสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ทางราชการได้กลับมาบูรณะคลองคูเมืองเดิม ได้แก่ คลองวัดเทพธิดา คลองวัดราชบพิธ และคลองรอบกรุง เพราะมีความสัมพันธ์กับทัศนียภาพและสภาพแวดล้อมของส่วนราชการและโบราณสถานสำคัญ บริเวณที่เรียกว่าหัวแหวนแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ การบูรณะได้ทำการขุดลอกลำคลองเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมเช่นปลูกไม้ประดับริมฝั่งคลอง ปลูกต้นไม้ใหญ่ ปรับปรุงอาคารบ้านเรือนและร้านค้าสองฟากฝั่งให้สะอาดเรียบร้อยถูกหลักสุขอนามัย
โครงการฟื้นฟูคลองเริ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จประพาสเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2537 ในโครงการร่วมใจภักดิ์รักษ์คลองแสนแสบ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะพลิกฟื้นวิญญาณคลองให้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง คลองจึงได้ถูกมองเป็นทางเลือกในการเดินทางอีกครั้งหนึ่ง เช่น เส้นทางเดินเรือหางยาวเพื่อรับส่ง คนจากมีนบุรีเรื่อยมาจนถึงผ่านฟ้าโดยแล่นตามคลองแสนแสบ
ปัจจุบัน (พ.ศ. 2547) เป็นที่น่าเสียดายว่าคลองเน่าสนิททั่วกรุงเทพ จากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2546 พบว่าในจำนวน 66 คลองเหลือให้สัตว์น้ำอาศัยอยู่ได้เพียง 7 คลองเท่านั้น ซ้ำร้ายคลองประวัติศาสตร์ที่อนุรักษ์ไว้ 16 คลองหายไปถึง 2 คลองคือคลองบ้านกล้วยและคลองพระยาเวิก ส่วนคลองห้วยขวาง ได้รับตำแหน่งแชมป์คลองเน่า คลองไผ่สิงโต คว้ารองแชมป์ และกรุงเทพมหานครต้องใช้เงินถึง 4.4 หมื่นล้านบาทในโครงการระบบบำบัดน้ำเสีย 6 โครงการ น่าสงสัยว่าคลองยังคงมีความสำคัญอยู่อีกหรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องตระหนักว่าชาวกรุงเทพมหานครทุกคนไม่ควรนิ่งดูดายและสนุกกับการทิ้ง น้ำเสียลงคลองต่าง ๆ โดยปราศจากจิตสำนึกที่ดีอีกต่อไป
บทความโดย นงพาณ เตชทวีฤทธิ์
ข่าวรามคำแหง ปีที่ 34 ฉบับที่ 20 วันที่ 6 -12 กันยายน 2547