ชาเป็นเครื่องดื่มที่ได้จากใบอ่อนของต้นชา พืชในตระกูล Camellia sinensis เครื่องมือในการเก็บชาที่ดีที่สุดคือมือของมนุษย์ ชาเป็นคำจีนที่ปรากฏอยู่ในภาษาไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า “ฉา” พ่อค้าจีนที่เข้ามาค้าขายคงจะนำมาเผยแพร่ น้ำชายุคนั้นถือเป็นของดีนำมาใช้รับรองแขก นิยมดื่มเฉพาะขุนนาง ผู้มีฐานะ และพระสงฆ์ มีสำนวนไทยคือ “ค่าน้ำร้อนน้ำชา” เข้าใจว่าชาวจีนที่ไปติดต่อกับขุนนางได้ใช้ขึ้นก่อน เมื่อนำเงินไปติดสินบน
จีนเป็นชาติแรกที่รู้จักการดื่มชา แล้วจึงแพร่หลายสู่ชาติอื่นที่มีการค้ากับจีน ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย เปอร์เซีย อาหรับ มุสลิมในตะวันออกกลางจนถึงยุโรป แต่ชาวอังกฤษที่ชื่นชอบการดื่มชาจากจีนจนเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตกลับเป็นผู้เผยแพร่วัฒนธรรมการดื่มชาให้รู้จักไปยังดินแดนต่างๆ ผ่านอาณานิคมอังกฤษที่มีอยู่ทั่วโลก อีกทั้งบริษัทที่ทรงอิทธิพลในวงการค้าชาของโลกในเวลาต่อมา คือบริษัท Lipton ก็เป็นของพ่อค้าอังกฤษ เช่นกัน
ชายังมีบทบาทโดดเด่นในการสร้างชาติสหรัฐอเมริกาให้เป็นเอกราชจากอังกฤษ ต่อต้านการเก็บภาษีใบชาสูงมากด้วยวิธีขนหีบชาทิ้งทะเล อันเป็นที่มาของ Boston Tea Party
แม้แต่ฮ่องกงของจีนที่เคยตกเป็นเมืองเช่าในปกครองของอังกฤษนานถึง 156 ปี ก็เป็นผลมาจากการค้าใบชาจีนกับอังกฤษ อังกฤษขณะนั้นปกครองอินเดียแล้วจึงนำฝิ่นจากอินเดียมาแลกกับใบชาจีน จีนเสียเปรียบเรื่องอาวุธและเรือรบจึงพ่ายแพ้ไป
ในประเทศจีน การจิบชาพูดคุยกันที่ “ร้านน้ำชา” นี่เองก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายในสังคมจีน เช่นการรับเอา วัฒนธรรมบางอย่างจากชาติตะวันตก หรือแม้แต่ความคิดเกี่ยวกับการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ ความคิดปฏิวัติที่มีผลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ก็มีแหล่งมาจากร้านน้ำชาเช่นกัน
ด้านวัฒนธรรมและประเพณี ญี่ปุ่นก็มีพิธีชงน้ำชา “ชาโนยุ” แต่เดิมเป็นพิธีทางศาสนาของนิกายเซ็นที่พระจีนนำมาเผยแพร่ พิธีไหว้บรรพบุรุษของจีนสิ่งที่ขาดไม่ได้คือน้ำชา และเหล้า วันสารทจีนก็ไหว้น้ำชา รวมถึงการยกน้ำชาของบ่าวสาวจีนด้วย ยุโรปรับวิธีดื่มชาจากจีนด้วยการเติมเกลือ,เนย และสมุนไพรก็มี ฝรั่งเศสเป็นชาติแรกที่เติมนมในน้ำชา จนได้รับความนิยมในเวลาต่อมา ชาวอเมริกันสร้างวัฒนธรรมการดื่มชาดำใส่น้ำแข็ง (Iced tea) กับการประดิษฐ์ชาถุง (tea bag)
ดัชเชสแห่งเบดฟอร์ดเริ่มการดื่มน้ำชาตอนบ่าย (Afternoon tea) ถ้าไปถึงออสเตรเลียแล้วได้รับการเชิญชวนให้ดื่ม Cuppa หมายถึงน้ำชา แต่ถ้าชวน Have tea with us นั่นหมายถึงอาหารมื้อเย็น
ปัจจุบันผู้คนสนใจดูแลสุขภาพมากขึ้น ประกอบกับการเผยแพร่ผลวิจัยชาเขียวป้องกันโรคมะเร็งได้ รวมถึงผู้ประกอบการต่างแข่งขันกันผลิตชาสำเร็จรูปพร้อมดื่มในบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย
ดังนั้นความนิยมดื่มชาจึงไม่มีขีดจำกัดเฉพาะผู้สูงอายุ แต่สามารถขยายวงกว้างครองใจเยาวชนคนรุ่นใหม่อีกด้วย
ผู้สนใจเรื่อง “สาระ…ชา” สามารถอ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://www.lib.ru.ac.th ใน “สนเทศน่ารู้”
บรรณานุกรม
- “ชา,” พลอยแกมเพชร. 6(131) : 144 – 145 ; 15 กรกฎาคม 2540.
- “ชา : การปลูกและการพัฒนาผลิตภัณฑ์,” ศิลปวัฒนธรรม. 15(11) : 89 – 94 ; กันยายน 2545.
- เดชา ศิริภัทร. “ชา : เครื่องดื่มจากรากเหง้าวัฒนธรรมตะวันออก,” หมอชาวบ้าน. 14(168) : 41 – 43 ; เมษายน 2536.
- “ร้านน้ำชาคืออะไร?,” . November 2002. สุรีย์ ภูมิภมร. “ชา : เครื่องดื่มที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก,” ศิลปวัฒนธรรม. 15(11) : 77 – 88 ; กันยายน 2545.
ภาพประกอบ
rawpixel. (2561, เมษายน). ถ้วยชา. ค้นเมื่อ 7 พฤษภาคม 2561, https://pixabay.com/photo-3224645/
บทความโดย เรวดี เรืองประพันธ์
ข่าวรามคำแหง ปีที่ 33 ฉบับที่ 14 วันที่ 28 กรกฎาคม -3สิงหาคม 2546