ยักษ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ยักษ์ปรากฏให้คนไทยรู้จักครั้งแรกในวรรณคดีไทย เรื่องรามเกียรติ์ โดยเฉพาะทศกัณฐ์ ซึ่งเป็นฝ่ายอธรรมที่สู้รบต่อกรกับกองทัพฝ่ายธรรมะของพระรามและพระลักษณ์ นอกจากจะปรากฏในวรรณคดีไทยแล้ว ยักษ์ตามคติความเชื่อของคนไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาในเรื่องของการเป็นผู้พิทักษ์รักษาความดีและปัดป้องความชั่วร้ายไม่ให้ย่างกรายเข้ามาใกล้ จึงมีการสร้างรูปหล่อของยักษ์เอาไว้หน้าทางเข้าพระอุโบสถ

ยักษ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ณ พระอารามหลวงแห่งนี้ นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแล้ว ยังเป็นศูนย์รวมของเหล่ายักษ์มากที่สุดถึง 12 ตน ซึ่งล้วนเป็นพระยายักษ์ตัวสำคัญจากเรื่องรามเกียรติ์ ทำหน้าที่เป็นทวารบาลยืนเฝ้าซุ้มประตูพระระเบียงคดทางเข้า-ออกพระอุโบสถประตูละคู่ คือ ประตูด้านทิศตะวันออก มี 2 คู่ ได้แก่

  • สุริยาภพ มีกายสีแดงชาด สวมมงกุฎยอดกาบไผ่ยืนคู่กับอินทรชิตซึ่งมีกายสีเขียว สวมมงกุฎยอดกาบไผ่เหมือนกัน ที่ริมประตูระเบียงด้านฐานไพที หน้าปราสาทพระเทพบิดร
  • วิรุฬหก กายสีขาบหรือสีน้ำเงินแก่ สวมมงกุฎนาคยืนคู่กับมังกรกัณฐ์ กายสีเขียว สวมมงกุฎนาคเช่นกัน เฝ้าริมประตูพระระเบียงหน้าพระอุโบสถ

ประตูด้านทิศตะวันตก จากเหนือไปใต้ มี 3 คู่ ได้แก่

  • วิรุฬจำบัง กายสีน้ำเงินและมัยราพณ์ กายสีม่วงอ่อน ทั้งคู่สวมมงกุฎยอดหางไก่ ยืนเฝ้าประตูพระระเบียงที่อยู่ระหว่างฐานไพทีและหอพระนาก (ด้านทิศเหนือของพระศรีรัตนเจดีย์ริมประตูที่เข้ามาจากสนามหน้าศาลาสหทัยสมาคม)
  • สหัสสเดชะ กายสีขาวปั้นหน้าเป็น 5 ชั้น และทศกัณฐ์กายสีเขียวเศียร 3 ชั้น เรียงลำดับจากใหญ่ไปหาเล็ก ยอดบนสุดหน้าเป็นมนุษย์ หมายถึง มีต้นกำเนิดจากวงศ์พรหม ทั้งคู่สวมมงกุฎยอดชัย ยืนอยู่ริมประตูที่เข้ามาจากพลับพลาเปลื้องเครื่องข้างศาลาสหทัยสมาคม หรือทางทิศตะวันตกของพระศรีรัตนเจดีย์ซึ่งเป็นทางเสด็จ
    พระราชดำเนินผ่าน
  • อัศกรรณมารา กายสีม่วงแก่ มีเศียร 2 ชั้น และจักรวรรดิ กายสีขาวมี 4 เศียร ทั้งคู่สวมมงกุฎยอดหางไก่ ยืนอยู่ริมประตูพระระเบียงด้านหลังพระอุโบสถ

ประตูด้านทิศใต้ ซึ่งเป็นประตูทางผ่านเข้าสู่บริเวณพระบรมมหาราชวังชั้นกลางมี 1 คู่ คือ

  • ทศคีรีวัน กายสีเขียว และทศคีรีธร กายสีแดง ทั้งคู่มีจมูกเป็นงวงช้าง สวมมงกุฎยอดกาบไผ่

ยักษ์ทั้ง 12 ตนนี้ เป็นปฏิมากรรมขนาดใหญ่ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามที่มีความงดงาม แต่ละตนมีความสูง 6 เมตร ตัวปั้นด้วยปูนทาสีก่อนจะประดับประดาด้วย
กระจกสีต่าง ๆ สร้างขึ้นตามคติความเชื่อเพื่อเฝ้าพระอารามและปกป้องรักษาบริเวณให้ปราศจากอันตรายและการรบกวนจากภูตผีปีศาจ ในหนังสือสาส์นสมเด็จกล่าวว่า ยักษ์เหล่านี้ปั้นขึ้นในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แต่ไม่ปรากฏชื่อผู้ปั้น ทราบเพียงว่าทศกัณฐ์และสหัสสะเดชะเป็นฝีมือปั้นของหลวงเทพรจนา (กัน) ช่างปั้นมีชื่อสมัยรัชการที่ 3

ถ้าท่านไปเที่ยวชมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) อย่าลื่มแวะไปเยี่ยมพระยายักษ์ทั้ง 12 ตนด้วยนะคะ

บทความโดย ชาลินี อันสมัคร
ข่าวรามคำแหง ปีที่ 33 ฉบับที่ 46 วันที่ 8-14 มีนาคม 2547