21 ก.พ. 2567 สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง จัดการบรรยายทางวิชาการ เรื่อง “เทคโนโลยี AI เปิดโลกใหม่แห่งอนาคต”

21 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา เวลา 08.30-12.00 น. สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง จัดการบรรยายทางวิชาการ เรื่อง “เทคโนโลยี AI เปิดโลกใหม่แห่งอนาคต” เนื่องในโครงการสัมมนาทางวิชาการ ประจำปี 2567 ในรูปแบบออนไลน์ ด้วย Microsoft Teams ผ่านอีเมลของมหาวิทยาลัยรามคำแหง (@ru.ac.th) โดย อาจารย์ ดร.ภูวเดช ธนิชานนท์ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดกลาง เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฯ วิทยากรบรรยายทางวิชาการ คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรรณพ อารีพรรค อาจารย์ประจำ วิทยาลัยนวัตกรรมดิจิทัลเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์

บุคลากรสำนักหอสมุดกลาง ร่วมรับฟังการบรรยายโดยพร้อมเพรียงกัน ผ่านโปรแกรม Microsoft Teams ระหว่างการบรรยาย มีการถาม-ตอบ และฝึกทำ Workshop กับโปรแกรมที่เป็น AI ประเภทต่าง ๆ ตามที่วิทยากรแนะนำ

ภาพอาจารย์ ดร.ภูวเดช ธนิชานนท์ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดกลาง เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฯ
ภาพอาจารย์ ดร.ภูวเดช ธนิชานนท์ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดกลาง เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฯ
ภาพบุคลากรสำนักหอสมุดกลาง ร่วมรับฟังการบรรยายฯ โดยพร้อมเพรียงกัน ผ่านโปรแกรม Microsoft Teams
ภาพบุคลากรสำนักหอสมุดกลาง ร่วมรับฟังการบรรยายฯ โดยพร้อมเพรียงกัน ผ่านโปรแกรม Microsoft Teams

การบรรยายทางวิชาการ เรื่อง “เทคโนโลยี AI เปิดโลกใหม่แห่งอนาคต” เพื่อให้บุคลากรสำนักหอสมุดกลางเกิดความรู้ ความเข้าใจในการนำเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน ให้มีประสิทธิภาพ สนับสนุนการเป็นตลาดวิชาดิจิทัล ที่ให้บริการและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตามวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง

วิทยากรให้ความรู้ แนวโน้มการใช้ AI ในปัจจุบัน การปรับตัวสำหรับบุคลากรสำนักหอสมุดกลางในปัจจุบัน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในอนาคต โดย AI เป็นเครื่องมือหนึ่งที่มาช่วยให้มนุษย์ทำงานได้ง่ายขึ้น เช่นเดียวกับเครื่องคิดเลข ถ้าต้องการใช้เครื่องคิดเลขที่มีฟังก์ชันซับซ้อน ควรเรียนรู้การป้อนคำสั่งและใช้งานฟังก์ชันที่ซับซ้อนนั้น AI ไม่สามารถมาแทนที่การทำงานของมนุษย์ได้ทั้งหมด เพียงแต่จะปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน เปลี่ยนโฉมการทำงาน ใช้คนน้อยลง แต่ระบบการทำงานยังต้องการคนที่ออกคำสั่ง และควบคุมระบบงาน

การบรรยายในครั้งนี้วิทยากรเน้น Generative AI และ Supervised Learning (การเรียนรู้แบบมีผู้สอน) ชนิด Generative AI ที่ใช้งานในปัจจุบัน มีทั้งแบบ Text Image Presentation Video และ Voice แนวโน้มที่ใช้กันมากที่สุดของปี 2567  เป็น AI สำหรับการใช้ Video และวิทยากรได้แนะนำให้ผู้เข้าร่วมการบรรยายฝึกใช้งาน AI ประเภทต่าง ๆ ดังนี้

  • Text: ChatGPT, Alisa, Claude, Gemini, Copilot
  • Image: Midjourney, Stable Diffusion, Copilot, Gemini
  • Presentaton: Gamma
  • Video: Runway ML
  • Voice: ElevenLabs, Botnoi
ภาพระหว่างวิทยากรแนะนำ AI บางส่วน สำหรับช่วยในการปฏิบัติงาน
ภาพระหว่างวิทยากรแนะนำ AI บางส่วน สำหรับช่วยในการปฏิบัติงาน

วิทยากรกล่าวว่า การใช้งานของ Generative AI จะเปลี่ยนโฉมงานในทุกประเภท โดยประเภทงานที่ได้รับผลกระทบสูงสุด 5 อันดับแรก ดังนี้

  1. งานสำนักงานและการบริหาร
  2. งานขายและที่เกี่ยวข้อง
  3. งานคอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์
  4. การดำเนินธุรกิจและการเงิน
  5. ศิลปะ การออกแบบ บันเทิง กีฬา และสื่อ

ข้อควรระวังการใช้ AI คือ Hallucination AI  อาการหลอนของ AI เป็นคำที่ใช้เรียกปรากฏการณ์โมเดล AI สร้างข้อมูล หรือเนื้อหาที่ไม่ถูกต้อง หรือเป็นเท็จออกมา แต่กลับแสดงผลลัพท์ด้วยความมั่นใจว่าข้อมูลนั้นถูกต้อง ส่วนลิขสิทธิ์กับงาน AI ประเทศไทยและสหรัฐอเมริกายังไม่ให้ลิขสิทธิ์งานที่สร้างจาก AI แต่ประเทศจีนยอมรับให้งานที่สร้างจาก AI มีลิขสิทธิ์เพราะต้องใช้ทักษะการเขียน Prompt

ช่วงท้ายของการบรรยาย วิทยากรได้ฝากแง่คิดไว้ สำหรับผู้ใช้งาน AI ในปัจจุบันเพื่อพลิกโฉมการทำงานต่าง ๆ ควรปรับตัวเป็นผู้รู้เท่าทัน AI (AI literacy) และเมื่อการบรรยายเสร็จสิ้น พิธีกรดำเนินรายการเชิญชวนผู้เข้าร่วมการบรรยาย เปิดกล้องเพื่อถ่ายภาพร่วมกัน

ภาพวิทยากรและผู้เข้าร่วมการบรรยายถ่ายภาพร่วมกัน หลังเสร็จสิ้นการบรรยาย
ภาพวิทยากรและผู้เข้าร่วมการบรรยายถ่ายภาพร่วมกัน หลังเสร็จสิ้นการบรรยาย

รายงานและภาพ : พัฒนาสารสนเทศบนเครือข่าย หน่วยเทคโนโลยีสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีห้องสมุด