ศาลพระภูมิ

ตามบ้านที่อยู่อาศัย สถานที่ราชการและอาคารใหญ่ ๆ เราจะเห็นสิ่งปลูกสร้างสิ่งหนึ่งควบคู่อยู่ด้วยทุกแห่ง สิ่งปลูกสร้างที่ว่านี้ คือ “ศาลพระภูมิ” การที่มีบ้านแล้วต้องมีศาลพระภูมิอยู่ด้วยเป็นความเชื่อถือที่มีมาแต่โบราณว่า พระภูมิเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำบ้าน เพราะเป็นที่สิงสถิตของเทพาอารักษ์ที่จะปกป้องรักษาคนในบ้านให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขและความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้น ซึ่งความเชื่อถือนี้ได้กลายเป็นประเพณีสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้

ที่ตั้ง เมื่อปลูกบ้านใหม่เสร็จแล้ว จึงเลือกสถานที่สำหรับตั้งศาลพระภูมิ

ส่วนมากนิยมตั้งอยู่หน้าบ้าน บริเวณที่ตั้งศาลต้องสะอาด ไม่อยู่ใกล้ครัว ส้วมและที่เทขยะ
ส่วนทิศที่ตั้งนั้นนิยมกันมาแต่โบราณให้ตั้งทางทิศเหนือ หรือทิศใต้ของตัวบ้าน และต้องระวังอย่าให้เงาบ้านทับศาลพระภูมิ จะเป็นการหมิ่นพระภูมิและเป็นอัปมงคล และห้ามหันหน้าเจว็ดไปทางประตูเข้าบ้านในกรณีที่มีศาลพระภูมิเก่าอยู่แล้ว หากประสงค์จะเปลี่ยนทำใหม่ก็ทำได้ แต่ต้องทำการสังเวยพระภูมิ 3 วัน ก่อนถอนออกไป ทั้งนี้เพื่อจะดูผลนิมิตที่พระภูมิเก่าจะแสดงออกมาให้ปรากฏทางใดทางหนึ่งว่าสมควรจะจัดตั้งศาลใหม่หรือไม่ หรือคงไว้ตามเดิม ถ้าปรากฏนิมิตไม่ดีก็อย่าเพิ่งตั้งศาลใหม่ ตรงกันข้ามถ้าดีควรทำพิธีตั้งศาลใหม่ได้ จะเห็นว่าการตั้งหรือยกศาลพระภูมิจะทำกันเล่น ๆ ตามใจชอบไม่ได้แต่ต้องทำให้ถูกแบบแผน เพราะฉะนั้นเวลาบวงสรวงหรือยกศาลพระภูมิใหม่ จึงต้องหาผู้รู้ในการทำพิธีด้านนี้มาดำเนินการโดยเฉพาะ

ลักษณะและรูปแบบของศาลพระภูมิ สะท้อนให้เห็นวิวัฒนาการของบ้านเรือนและอาคารสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและความเจริญของบ้านเมือง

ในสมัยโบราณบ้านที่อยู่อาศัยสร้างเป็นเรือนไม้หลังคาทรงไทย ศาลพระภูมิก็มีรูปแบบเป็นเรือนไม้ทรงไทยเช่นเดียวกัน ตั้งอยู่บนเสาไม้ ความสูงอยู่ระดับสายตาพอดี ศาลพระภูมิจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ศาลเพียงตา” ต่อมาเราได้รับอิทธิพลจากประเทศตะวันตกในการสร้างบ้านเรือนและสถานที่ต่าง ๆ เป็นตึกขนาดใหญ่ เป็นผลให้ศาลพระภูมิมีการพัฒนารูปแบบ ขนาด และสีสันตามไปด้วย ดังที่เราได้เห็นเป็นรูปโบสถ์ วิหาร มณฑป พระปรางค์ และปราสาทราชมณเฑียรอย่างงดงามในปัจจุบัน อาคารสูง ๆ บางแห่งจัดตั้งศาลพระภูมิไว้บนดาดฟ้าของอาคารก็มี

สิ่งที่สำคัญที่สุดในศาลพระภูมิ คือ เจว็ดหรือรูปเทพารักษ์ประจำศาล มือขวาถือพระขรรค์ตั้งขึ้น ส่วนมือซ้ายในสมัยโบราณถือหนังสือ แต่ในปัจจุบันเปลี่ยนมาถือถุงเงิน เพื่อช่วยให้เกิดความมั่งคั่งแก่ผู้อยู่อาศัย พร้อมด้วยบริวารซึ่งปั้นเป็นตุ๊กตาตัวเล็ก ๆ ชาย-หญิงเป็นคู่ ละครยก 2 โรง ช้าง 1 คู่ ม้า 1 คู่ เครื่องประดับและตกแต่งศาลประกอบด้วย แจกันใส่ดอกไม้ 1 คู่ เชิงเทียน 1 คู่ กระถางธูป 1 ใบ ผ้าผูกเจว็ด 1 ผืน ผ้าพันศาล 1 ผืน ผ้าประดับศาลที่ประตูและหน้าต่าง

การบูชาและการสังเวย เมื่อมีศาลพระภูมิไว้ประจำบ้านแล้ว เจ้าของบ้านควรบูชาด้วยดอกไม้ ธูปเทียนเป็นประจำ พร้อมกล่าวคำบูชาดังนี้

นะโนตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
นโม เม ภุมมะเทวานัง ธูปะทีปะ ปุปผัง
สักการะวันทะนัง พระชัยมงคล

ในการสังเวยพระภูมินั้นสิ่งที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง คือ ผู้ที่จะขอพรควรสังเวย และบูชาด้วยตนเองจึงจะได้ผลดี เครื่องสังเวยใช้อาหารธรรมดาที่จัดทำขึ้นเพื่อการมงคลนั้น ๆ ถ้าเพิ่มเครื่องกระยาบวด ซึ่งได้แก่ กล้วยน้ำ มะพร้าวอ่อน ขนมต้มแดง-ต้มขาว ฟักทองหรือมันเทศแกงบวด ก็ยิ่งดี เวลาบูชาต้องเดินเข้าทางทิศปลายเท้าของพระภูมิ ตั้งเครื่องสังเวยและหันหน้าให้ถูกทิศ ดังนี้

  • วันอาทิตย์ พระภูมินอนหันศีรษะไปทางทิศตะวันออก เหยียดเท้าไปทางทิศตะวันตก
  • วันจันทร์ พระภูมินอนหันศีรษะไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เหยียดเท้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
  • วันอังคาร พระภูมินอนหันศีรษะไปทางทิศใต้ เหยียดเท้าไปทางทิศเหนือ
  • วันพุธ พระภูมินอนหันศีรษะไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เหยียดเท้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
  • วันพฤหัสบดี พระภูมินอนหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก เหยียดเท้าไปทางทิศตะวันออก
  • วันศุกร์ พระภูมินอนหันศีรษะไปทางทิศเหนือ เหยียดเท้าไปทางทิศใต้
  • วันเสาร์ พระภูมินอนหันศีรษะไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เหยียดเท้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้

การบูชาและการสังเวยต้องปฏิบัติให้ถูกต้องและต้องหันหน้าให้ถูกทิศทางของพระภูมิ ถ้าเข้าทางด้านศีรษะพระภูมิจะไม่เป็นสิริมงคล ถ้าเข้าทางด้านปลายเท้าพระภูมิจะ
พอใจรับเครื่องสังเวยและจะบันดาลให้เกิดสิริมงคลและลาภผลตามที่ปรารถนา

บทความโดย ชาลินี อันสมัคร
ข่าวรามคำแหง ปีที่ 34 ฉบับที่ 2 วันที่ 3-9 พฤษภาคม 2547