222 ปี กรุงรัตนโกสินทร์

21 เมษายน พ.ศ. 2325 เวลา 06.45 น. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี โปรดเกล้าฯ ให้ทำพิธียกเสาหลักเมืองขึ้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และประวัติศาสตร์หน้าแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ และกรุงเทพมหานครก็เริ่มขึ้น

กรุงเทพฯ ใน ร.ศ. 222 เดิมมีฐานะเป็นจังหวัดๆหนึ่ง มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า จังหวัดพระนคร ต่อมาใน พ.ศ. 2514 ได้รวมกับจังหวัดธนบุรี ซึ่งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นจังหวัดเดียวกัน ใช้ชื่อว่า นครหลวงกรุงเทพธนบุรี และในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรุงเทพมหานคร หรือที่ชาวต่างชาติเรียกว่า Bangkok ซึ่งมาจากคำไทยว่า “บางกอก” ตามชื่อ

สถานที่ดั้งเดิมของกรุงเทพฯ

เดิมสถานที่ที่สร้างกรุงรัตนโกสินทร์นั้น สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้จำลองแบบผังเมืองมาจากอยุธยา และอาณาเขตของกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้กว้างขวางอย่างปัจจุบันนี้ อาณาเขตของกรุงรัตนโกสินทร์ถูกกำหนดขึ้นโดยแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลเข้ามาเป็นกำแพงกั้นพระนครอยู่ด้านหนึ่ง และมีคลองอีก 3 สายที่รายล้อม และแบ่งพระนครออกเป็น 3 ส่วน คือ

กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน ได้แก่ บริเวณที่อยู่ภายในริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านพระบรมมหาราชวังไปจนถึงคลองคูเมืองเดิม ซึ่งเป็นคลองที่ขุดขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี มีปากคลองตลาดเป็นปากคลองอีกด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านอยู่ที่เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า

กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นกลาง มีอาณาเขตเริ่มตั้งแต่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านเหนือ และด้านใต้คลองคูเมืองเดิมไปจนจดคลองรอบกรุงหรือคลองบางลำพู ซึ่งเริ่มต้นที่ป้อมพระสุเมรุ และไปสิ้นสุดที่คลองโอ่งอ่างตรงวัดเลียบ ตลอดเส้นทางของคลองนี้จะมีการสร้างกำแพงเมือง และป้อมปราการขึ้น 14 แห่ง ซึ่งปัจจุบันเหลือแค่ 2 ป้อม คือ ป้อมพระสุเมรุ และป้อมมหากาฬ

กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก คือพื้นที่ที่อยู่ภายในคลองผดุงกรุงเกษมที่ขุดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อขยายพื้นที่ของกรุงเทพฯออกไป โดยจะเริ่มตั้งแต่เทเวศน์ไปด้านหนึ่ง และไปออกที่แม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้านหนึ่งที่ท่าน้ำสี่พระยา

เนื่องจากสภาพพื้นที่ที่มีน้ำล้อมรอบถึง 3 ชั้น ทำให้ดูคล้ายกับเกาะ จึงเป็นที่มาของคำว่า “เกาะรัตนโกสินทร์” และในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เปลี่ยนชื่อกรุงเทพฯ เป็น “กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรา ยุธยามหาดิลก นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยะวิษณุกรรมประสิทธิ์” ซึ่งเป็นชื่อเมืองหลวงที่มีความยาวที่สุดในโลก

ปัจจุบัน พ.ศ. 2547 หรือรัตนโกสินทร์ศก ( ร.ศ.) 222 โฉมหน้าของกรุงเทพฯ ได้เปลี่ยนไปทั้งรูปลักษณ์ และอาณาเขต เรียกได้ว่าเป็นเมืองที่ผสมผสานไปด้วยวัฒนธรรมดั้งเดิมแบบไทยๆ และวัฒนธรรมสมัยใหม่จากตะวันตก และในวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2547 กรุงเทพฯ มีอายุครบ 222 ปีเต็ม

บรรณานุกรม
“ท่องเที่ยว-อาหาร” ผู้จัดการ (5 เม.ย. 2547 ) หน้า 32

บทความโดย ชุติมา เรืองอุดม
ข่าวรามคำแหง ปีที่ 34 ฉบับที่ 6 วันที่ 31พฤษภาคม-6 มิถุนายน 2547