หลักเกณฑ์ในการตัดสินว่าศัพท์คำไหนควรบรรจุไว้ในพจนานุกรม
All Posts
บรรณาธิการของพจนานุกรมภาษาอังกฤษ มีหลักเกณฑ์อะไร ในการตัดสินว่าศัพท์คำไหนควรบรรจุไว้ในพจนานุกรม ? พจนานุกรมที่ผ่านการศึกษาวิจัยมาอย่างถี่ถ้วนเป็นผลิตผลจากการอ่านหนังสือมากมาย คนอ่านจะต้องคอยติดตามนิตยสาร หนังสือ หนังสือพิมพ์ และแม้แต่รายการอาหารในภัตตาคารกับแค็ตตาล็อก วัตถุประสงค์ก็เพื่อหาคำสองประเภทคือ คำใหม่เอี่ยม เช่น blog หมายถึงเว็บไซต์ส่วนตัว หรือคำที่มีอยู่แล้วแต่ถูกนำไปใช้ในความหมายใหม่ เช่น cougar หมายถึง ผู้หญิงที่ควงกับชายหนุ่มอายุน้อยกว่า แคทเทอรีน บาร์เบอร์ บรรณาธิการอำนวยการของ Canadian Oxford Dictionary กล่าวว่า “ข้อความที่มีคำทั้งสองประเภทนี้อยู่ จะถูกรวบรวมไว้ ในฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เมื่อเห็นว่าคำนั้นปรากฏอยู่ซ้ำๆ คณะบรรณาธิการก็จะพิจารณาว่าควรบรรจุคำคำนั้นไว้ในพจนานุกรมหรือไม่ ถ้าถามว่า.. ต้องปรากฏซ้ำบ่อยแค่ไหน อันนี้ต้องขึ้นอยู่กับขนาดของพจนานุกรม? หลักทั่วไป คือ ปรากฏอยู่ในข้อความ 15 ครั้งจากแหล่งข้อมูลที่แตกต่างกัน 15 แหล่ง และมีระยะเวลาประมาณ 5 ปี ด้วยเหตุนี้ เราจึงเลี่ยงศัพท์ประเภทคำคะนอง ซึ่งคนคนเดียวใช้อยู่ประเดี๋ยวประด๋าวกับศัพท์วูบวาบตามสมัย เช่น tofukey มาจากคำว่า tofu (เต้าหู้) กับ turkey (ไก่งวง) หมายถึง เต้าหู้ที่นำไปใช้แทน เนื้อไก่งวงเวลาทำอาหารมังสวิรัติ อย่างไรก็ตาม ในการจัดทำครั้งต่อไปคำว่า tofukey อาจถูกบรรจุไว้ก็ได้ หลักเกณฑ์เหล่านี้ช่วยให้ตัดสินได้ว่าคำไหนควรจะกลายเป็นคำสามัญในภาษาของเราต่อไป” ที่มา : คอลัมน์ สงสัยจริง นิตยสาร สรรสาระ Reader ‘s Digest ฉบับ ธันวาคม 2549 รวบรวมข้อมูลโดย: งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
All Posts
เป็นหนังสือรวบรวมคำที่มีใช้อยู่ในภาษา และกำหนดอักขรวิธี การอ่าน ความหมาย ตลอดจนประวัติที่มาของคำ จัดเป็นหนังสือประเภทอ้างอิงที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับหนังสือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานนั้นยิ่งมีความสำคัญเป็นทวีคูณ ทั้งนี้เพราะมีประกาศของทางราชการให้ใช้เป็นแบบฉบับของการเขียนหนังสือไทยในราชการ และโรงเรียนด้วยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานจึงเป็นหนังสืออันเป็นหลักสำคัญในการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง และให้คงรูปเดียวกัน ดังนั้นจึงถือได้ว่าพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเป็นแบบมาตรฐานอ้างอิงทางภาษาชนิดหนึ่งโดยมีราชบัณฑิตยสภาเป็นผู้กำหนดมาตรฐานในการใช้ภาษาไทยดังกล่าว