เป็นหนังสือรวบรวมคำที่มีใช้อยู่ในภาษา และกำหนดอักขรวิธี การอ่าน ความหมาย ตลอดจนประวัติที่มาของคำ จัดเป็นหนังสือประเภทอ้างอิงที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับหนังสือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานนั้นยิ่งมีความสำคัญเป็นทวีคูณ ทั้งนี้เพราะมีประกาศของทางราชการให้ใช้เป็นแบบฉบับของการเขียนหนังสือไทยในราชการ และโรงเรียนด้วยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานจึงเป็นหนังสืออันเป็นหลักสำคัญในการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง และให้คงรูปเดียวกัน ดังนั้นจึงถือได้ว่าพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเป็นแบบมาตรฐานอ้างอิงทางภาษาชนิดหนึ่งโดยมีราชบัณฑิตยสภาเป็นผู้กำหนดมาตรฐานในการใช้ภาษาไทยดังกล่าว
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2547) เป็นพจนานุกรม ฉบับ พ.ศ. 2542 หลังจากที่คนไทยใช้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 มานานถึง 17 ปี ซึ่งพจนานุกรมฯ พ.ศ. 2525 จัดพิมพ์เผยแพร่เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พจนานุกรมฉบับดังกล่าวมีการแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ถึง 6 ครั้ง แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิ่มเติมคำศัพท์ใหม่ ๆ เลย
สำหรับพจนานุกรมฯ พ.ศ. 2542 จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ทรงมีพระชนมายุครบ 6 รอบ พจนานุกรมฯ พ.ศ. 2542 นี้ มีรูปเล่มที่หนากว่าเล่มเดิมถึง สองเท่า เนื่องจากมีการบัญญัติศัพท์ใหม่ ๆ ซึ่งคำศัพท์ที่เพิ่มขึ้นใหม่นั้นส่วนมากจะเป็นคำศัพท์ทางด้านวิชาการ คำศัพท์ภาษาไทยที่เกิดขึ้นใหม่ในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นคำผสม ซึ่งเป็นคำเก่าที่นำมาผสมกันจนเกิดคำใหม่ และเกิดความหมายใหม่ขึ้นมา นอกจากนี้ยังได้ปรับปรุงคำนิยามเก่าที่ยังคลาดเคลื่อน เพิ่มคำบางคำที่เกี่ยวโยงกับคำซึ่งได้จัดเก็บไว้แล้ว เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น มีการแก้ไขเพิ่มเติมที่มาของคำตลอดจนการบอกคำอ่านของคำที่สามารถอ่านได้ตามแบบแผน และตามคำนิยามไว้ด้วย
พจนานุกรมฯ พ.ศ. 2542 มีศัพท์ที่ได้บัญญัติใหม่ อาทิ
- กระโดงคาง (น) หมายถึง ปลายคาง
- เจ๋ง (ปาก) หมายถึง ยอดเยี่ยม ดีเลิศ
- ประชาพิจารณ์ (น) หมายถึง การฟังความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ ( อ. Public hearing )
- วิสัยทัศน์ (น) หมายถึง การมองการณ์ไกล วิทัศน์ (vision)
- นวัตกรรม (น) หมายถึง สิ่งที่ทำขึ้นใหม่ หรือแปลกจากเดิม ซึ่งอาจเป็นความคิด วิธีการ หรืออุปกรณ์ เป็นต้น
- เท้าแชร์ หมายถึง ผู้เป็นหัวหน้าวงแชร์ มีหน้าที่จัดการ และรับผิดชอบเรื่องเงิน ตามปกติจะเป็นผู้ได้เงินเป็นคนแรกโดยไม่เสียดอกเบี้ย
- ศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศ (กฎ) (น) หมายถึง ศาลยุติธรรมชั้นต้นซึ่งเป็นศาลชำนัญพิเศษ มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง หรือคดีอาญา ที่กฏหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศ
- สติแตก (ก.) หมายถึง ควบคุมสติไม่ได้
- โสหัท (น.) หมายถึง เพื่อน, ผู้มีใจดี (ป. , ส.)
- ฮั้ว (ปาก) (ก.) หมายถึง รวมหัวกัน, ร่วมกันกระทำการ, สมยอมกันในการเสนอราคาเพื่อมุ่งหมาย มิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม
บทความโดย พิลิปดา นาคะประทีป
ข่าวรามคำแหง ปีที่ 33 ฉบับที่ 44 วันที่ 23-29 กุมพาพันธ์ 2547