พระอัจฉริยภาพด้านการเรียงร้อยอักษรา ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

หนังสือนี้มีมากมายหลายชนิด
นำดวงจิตเริงรื่นชื่นสดใส
ให้ความรู้สำเริงบันเทิงใจ
ฉันจึงใฝ่ใจสมานอ่านทุกวัน
มีวิชาหลายอย่างต่างจำพวก
ล้วนสะดวกค้นได้ให้สุขสันต์
วิชาการสรรมาสารพัน
ชั่วชีวันฉันอ่านได้ไม่เบื่อเลย

กลอนข้างบนนี้เป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ตั้งแต่พระชนมายุได้ 12 พรรษา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพด้านการเรียงร้อยอักษราของพระองค์ท่าน ที่ทรงพระปรีชาสามารถด้านการแต่งคำประพันธ์ได้ทั้งประเภทร้อยกรอง ร้อยแก้ว งานแปลและหนังสือเด็ก

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเริ่มพระราชนิพนธ์วรรณกรรมประเภทร้อยกรองตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงพระราชนิพนธ์ได้ทั้ง โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนและร่าย ทรงพระราชนิพนธ์โคลงสี่สุภาพได้ดียิ่ง ลีลางดงามไพเราะ เปี่ยมด้วยสุนทรียะและเนื้อหาสาระดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์เรื่อง อยุธยา กษัตริยานุสรณ์ พุทธสุภาษิตคำโคลง พระราชนิพนธ์ร้อยกรองที่มีอยู่เป็นจำนวนมากสะท้อนให้เห็นเด่นชัดถึงการทรงเป็นกวีและปราชญ์ทางภาษาแห่งรัตนโกสินทร์ร่วมสมัย ทรงเป็นตัวอย่างพิสูจน์ให้เห็นว่าการเป็นกวีนั้นผสมผสานกลมกลืนกันระหว่างพรสวรรค์และความวิริยะในการฝึกฝน เป็นศาสตร์และศิลป์อันสร้างสรรค์จากปัญญาและหัวใจร่วมกัน

พระราชนิพนธ์ร้อยแก้วนั้นทรงพระราชนิพนธ์ได้ทั้งประเภทวิชาการและสารคดี ทรงเริ่มต้นเรียงร้อยตั้งแต่ พ.ศ. 2510 จากเรียงความ สารคดี งานวิชาการสั้น ๆ เมื่อทรงศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ก็ได้ทรงพัฒนาต่อไปในด้านบทความวิชาการขนาดยาว และลึกซึ้งขึ้นเรื่อย ๆ ตามระดับความรู้ที่เพิ่มพูนยิ่ง ๆ ขึ้น จึงทรงมีงานวิชาการ ทั้งบทความ คำบรรยาย ปาฐกถา และงานค้นคว้าวิจัยในหลาย ๆ ด้าน อาทิ ด้านภาษา วรรณคดี ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี โภชนาการ เทคโนโลยีสารสนเทศและอื่น ๆ อีกมากมาย ในบรรดาพระราชนิพนธ์ร้อยแก้วที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก คือสารคดีเสด็จเยือนต่างประเทศซึ่งเป็นสารคดีที่มีขนาดยาวพิมพ์เป็นเล่มหนังสือ และสารคดีที่เป็นชุด นอกจากนี้ยังทรงเขียนและทรงแปลเรื่องสำหรับเด็ก ได้แก่เรื่องแก้วจอมแก่น แก้วจอมซน และเรื่องแปลขบวนการนกกางเขน โดยใช้พระนามแฝงว่าแว่นแก้ว

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มิได้ทรงเชี่ยวชาญเฉพาะภาษาไทยเท่านั้น แต่ทรงพระปรีชาสามารถในภาษาต่างประเทศทั้งภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมัน จีน เขมร บาลีและสันสกฤต ได้ เช่น พระราชนิพนธ์บทกวีภาษาฝรั่งเศส เรื่องความคิดคำนึง

ในปี พ.ศ. 2525 ทรงเริ่มแปลบทกวี และนวนิยายจีน ทรงแปลต่อเนื่องอยู่ 6-7 ปี หลังจากปี 2532 ทรงมิค่อยได้แปลบทกวีจีนอีก บทกวีจีนที่ทรงพระราชนิพนธ์นั้นรวบรวมอยู่ในหนังสือหยกใสร่ายคำ ส่วนนวนิยายจีนที่ทรงแปล เช่น เรื่องผีเสื้อ และเมฆเหิน น้ำไหล

งานแปลภาษาอังกฤษก็ทรงแปลไว้หลายเรื่อง แต่ไม่ค่อยมีใครรู้ว่าผู้แปลที่ใช้นามแฝงว่า บันดาล ก็คือสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เช่นหนังสือชื่อ กำเนิดอนาคตจึงเป็นที่ประจักษ์ว่าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระอัจริยภาพด้านการเรียงร้อยอักษรา เป็นอย่างยิ่งทรงเป็นกวีและปราชญ์ทางภาษาแห่งรัตนโกสินทร์ร่วมสมัยที่แท้จริง

สำหรับผู้สนใจที่ต้องการอ่านหนังสือพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สามารถอ่านได้ที่ฝ่ายบริการช่วยการค้นคว้าและวิจัย อาคาร 3 ชั้น 1 สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ปัจจุบันปี พ.ศ. 2560 สามารถอ่านได้ที่ อาคาร 3 ชั้น 3)

บรรณานุกรม
ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล สุกัญญา บำรุงสุข และวิไลวรรณ ปึงตระกูล, ผู้รวบรวม. 2542. เรียงร้อยบรรณรัตน์ บรรณานุกรมและดรรชนีพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยา สิรินธร มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ภาพประกอบ
คลังทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด. (2560). สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. ค้นเมื่อ 14 กันยายน 2560, https://oer.learn.in.th/search_detail/result/39455

บทความโดย : สุพัตรา ศิริวัฒน์
ข่าวรามคำแหง ปีที่ 33 ฉบับที่ 6 วันที่ 2-8 มิถุนายน 2546