นาโน เทคโนโลยีจิ๋ว แต่แจ๋ว

มนุษย์มีสมองเป็นเลิศ ได้พยายามคิดค้นสร้างสิ่งของเลียนแบบธรรมชาติ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้มนุษยชาติเข้าใจถึงธรรมชาติเหล่านั้นอย่างลึกซึ้ง และสามารถแก้ไขข้อบกพร่อง ทำการพัฒนาปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่นั้นให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มีการค้นพบและทำการพัฒนาเทคโนโลยีขนาดเล็กชนิดหนึ่งขึ้น เรียกว่า นาโน ซึ่งนับว่าเป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์สาขาหนึ่งที่น่าสนใจศึกษา

นาโนเทคโนโลยี คืออะไร

นาโน เป็นภาษากรีกโบราณแปลว่า คนแคระ ในความหมายด้านเทคโนโลยี หมายถึงวัตถุขนาดเล็กจิ๋ว ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ชนิดพิเศษ ที่เรียกว่าอิเล็กตรอนไมโครสโคปเท่านั้น จึงสามารถมองเห็นได้

ผู้ที่จุดประกายให้มีการนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตสิ่งต่าง ๆ ก็คือ ศาสตราจารย์ริชาร์ด ฟายน์แมน นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล ได้แสดงวิสัยทัศน์ไว้ว่า “…การค้นพบทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะก้าวหน้าอย่างมาก หากเรามีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่จะจัดการกับสิ่งที่เล็กๆในระดับนาโนเพื่อเคลื่อนย้ายมาเชื่อมต่อทีละอะตอมด้วยวิศวกรรม จัดเรียงจนกระทั่งเป็นวัสดุรูปแบบใหม่อันมีคุณสมบัติพิเศษที่ไม่เคยมีมาก่อน…”

ต่อมาความก้าวหน้าในด้านวิจัยและพัฒนาทางด้านนาโนเทคโนโลยีมีมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะสาขาวัสดุศาสตร์ มีการนำอะตอมหรือโมเลกุลมาประสานและก่อตัวอย่างเป็นระเบียบให้เป็นวัสดุที่มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยวัสดุที่ผลิตได้จะมีคุณสมบัติเฉพาะตัวแตกต่างจากวัสดุที่เราเคยเห็นมาก่อน มีความแข็งแรง ทนทาน และน้ำหนักเบา เช่น เสื้อผ้าที่ผลิตได้จากเทคโนโลยีนาโน จะมีน้ำหนักเบา ไม่สะสมฝุ่นละออง และไม่เปียกน้ำ สามารถสวมใส่ได้โดยไม่ต้องซัก หรือในวงการแพทย์ได้ประยุกต์ใช้นาโน เพื่อสร้างเครื่องจักรขนาดเล็ก มีน้ำหนักเบา ส่งเข้าไปในร่างกาย ทำการตรวจส่วนต่าง ๆ ภายในร่างกาย หากพบส่วนใดมีเชื้อโรค เครื่องนี้จะทำการพ่นยาเข้าไป เพื่อรักษาโรคตรงส่วนนั้น ๆ เป็นต้น

ปัจจุบัน (พ.ศ. 2547) เทคโนโลยีนาโนได้ถูกนำมาใช้ในวงการต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านการแพทย์ เภสัช อุตสาหกรรมหนักและเบา อาทิเช่น การผลิตไม้เทนนิส เสื้อผ้า รถยนต์ ยารักษาโรค เครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกมาก แม้ว่าสินค้าที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีนี้จะมีราคาแพง เนื่องจากมีการลงทุนในงบวิจัยพัฒนาค่อนข้างมาก ประกอบกับเครื่องจักรที่ใช้ผลิตมีราคาสูง ผู้ผลิตยังมีจำนวนน้อย แต่เชื่อกันว่าโลกการตลาดในอนาคตมีแนวโน้มที่จะผลิตได้มากขึ้น

ความก้าวหน้าดังกล่าวทำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเกิดการตื่นตัวและตระหนักในความสำคัญในการเสริมศักยภาพนาโนเทคโนโลยีนี้อย่างมาก จึงมีการแข่งขันกัน เพื่อที่จะก้าวไปสู่ความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี ตามหลักที่ว่า “ผู้ใดมีเทคโนโลยีผู้นั้นครองโลก”

สำหรับประเทศไทยนั้น รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีนาโนนี้อย่างมาก แต่มุ่งเน้นไปในด้านการสร้างเสริมสุขภาพอนามัยเป็นหลัก มีการนำสิ่งที่มีอยู่บนแผ่นดินไทยโดยเฉพาะพืชพันธุ์ธัญญาหารต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นมรดกอันล้ำค่ามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้เนื่องจากเมืองไทยมีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบกับนักวิทยาศาสตร์ไทยหลายท่านมีความเชี่ยวชาญ สามารถเพาะเลี้ยงอาหารโปรตีน ที่มีคุณค่าระดับโมเลกุลได้เป็นผลสำเร็จ และยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ไทยเป็นครัวของโลกด้วย

จึงเป็นที่น่ายินดีที่นาโนเทคโนโลยีของประเทศไทย ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างจริงจัง ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆมากขึ้น มีความเป็นจริงเร็วขึ้น ซึ่งคาดว่า ในไม่ช้านี้ เราคงจะได้พบเห็นสินค้าไทยที่ผลิตด้วยนาโนเทคโนโลยีวางจำหน่ายอย่างแพร่หลาย

บทความโดย วิสาขา รามสมภพ
ข่าวรามคำแหง ปีที่ 34 ฉบับที่ 19 วันที่ 30 สิงหาคม – 5 กันยายน 2547