ห้องสมุดเสียง

ห้องสมุดเป็นแหล่งรวบรวมทรัพยากรสารนิเทศในสาขาต่างๆมากมายให้ทั้งความรู้และความบันเทิงควบคู่กันไป ห้องสมุดเสียงแตกต่างจากห้องสมุดอื่นๆอย่างไร ทำไมจึงเรียกว่า “ห้องสมุดเสียง” เรามาหาคำตอบได้จากบทความเรื่องห้องสมุดเสียง

ห้องสมุดเสียงแห่งแรกในประเทศไทย

ห้องสมุดเสียง คือ สถานที่เก็บรักษาวัสดุรวบรวมเสียงต่างๆบันทึกลงแถบเสียงไว้ โดยจัดแยกหมวดหมู่ตามประเภทของรายการบรรจุไว้ในตู้เก็บ พร้อมทั้งรายละเอียดของแถบเสียงแต่ละม้วนคล้ายการจัดเก็บหนังสือในห้องสมุด ถ้าเราต้องการเสียงแบบใด ชนิดใด เราสามารถกดปุ่มแสดงความต้องการ เราก็จะได้รับฟังเสียงที่เราอยากทราบ พร้อมกับรายละเอียดของเสียงนั้นๆ ในทันที

ความเป็นมาของห้องสมุดเสียง

ห้องสมุดเสียงแห่งแรกของไทยนั้นเกิดขึ้นพร้อมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร ในบริเวณพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐมผู้ริเริ่มก่อตั้ง คือ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล

วัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน

  1. เพื่อเสริมการสอนวิชาต่างๆตามหลักสูตรด้วย “เสียง” ตามที่ผู้สอนต้องการ
  2. เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ศึกษาตามลำพังนอกเวลาเรียนและให้ได้รับความบันเทิงตามสมควร
  3. รักษาสมบัติ วัฒนธรรมทางเสียงไว้เพื่อการศึกษาค้นคว้าในอนาคต

เสียงที่ห้องสมุดเสียงเก็บรวบรวมไว้

เก็บในรูปของแถบบันทึกเสียงต้นฉบับ ( Master Tape ) สำหรับการศึกษาค้นคว้า แบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท คือ

  1. พระสุรเสียง ได้แก่ กระแสพระราชดำรัส และพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานในโอกาสต่าง ๆ ซึ่งทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาติให้สำเนารวบรวมไว้ในห้องสมุดเสียงของมหาวิทยาลัยศิลปากร
  2. วัฒนธรรมประเพณี ศาสนา ได้แก่งานพิธีต่างๆ การอ่านคำประพันธ์ เพลงชาติ เพลงพื้นเมือง พิธีกรรมทางศาสนา ฯลฯ ทั้งภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ
  3. การพูด ได้แก่วาทะของบุคคลสำคัญ เนื่องในโอกาสต่าง ๆ แบ่งเป็นสุนทรพจน์ คำปราศรัย คำบรรยาย ปาฐกถา การรายงานข่าว การเล่าเรื่อง การสนทนา การสัมภาษณ์ การประชุม การสัมมนา การอภิปราย ฯลฯ ทั้งภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ
  4. การแสดง ได้แก่ ดนตรี นาฏศิลป์ เพลงพื้นเมือง เพลงไทยเดิม ละคร อุปรากร ฯลฯ ทั้งภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ
  5. บทเรียน ได้แก่ บทเรียนเสริมการสอนวิชาต่าง ๆ โดยเฉพาะบทเรียนเสริมทักษะภาษาต่างประเทศที่มหาวิทยาลัยเปิดสอนอยู่ เช่น ภาษาจีน ฝรั่งเศส เยอรมัน และอังกฤษ ฯลฯ

วิธีการค้นหารายชื่อของรายการเสียง

เพื่อให้สามารถค้นหารายชื่อของรายการเสียงที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว ห้องสมุดเสียงจึงมีวิธีการเรียงลำดับรายชื่อรายการทั้งหมด ดังต่อไปนี้

  1. แบ่งแถบเสียงทั้งหมดออกเป็น 5 หมวดใหญ่ ตามประเภทเนื้อหาของรายการ หมวดของแถบเสียงที่จัดไว้ในห้องสมุดเสียง ได้แก่
    • หมวดพระสุรเสียง
    • หมวดวัฒนธรรมประเพณี ศาสนา
    • หมวดการพูด
    • หมวดการแสดง
    • หมวดบทเรียน
  2. ในแต่ละหมวด จัดแบ่งเป็นหัวเรื่องใหญ่ และหัวเรื่องย่อย เช่น หมวดวัฒนธรรมประเพณี ศาสนา
    หมู่หัวเรื่องใหญ่ วัฒนธรรมประเพณี การอ่านคำประพันธ์
    หมู่หัวเรื่องย่อย การอ่านคำประพันธ์ กาพย์
    หลังจากการแบ่งรายชื่อของรายการออกเป็นหมวด หมู่ หัวเรื่องใหญ่ และหมู่หัวเรื่องย่อยแล้วจึงเป็นรายละเอียดของแต่ละรายการเรียงตามลำดับตัวอักษร ซึ่งประกอบด้วยชื่อเรื่อง ชื่อผู้พูด หรือผู้แสดง สถานที่พูดหรือแสดง วันเดือนปีที่บันทึกเสียง ตลอดจนความยาวของแต่ละรายการ ทั้งนี้ทางด้านขวามือจะเป็นเลขทะเบียนของแถบบันทึกเสียงของแต่ละม้วน เช่น
    หมวด การพูด
    หมู่หัวเรื่องใหญ่ การพูด : การบรรยาย
    หมู่หัวเรื่องย่อย : บรรยาย-การศึกษา
    ชื่อเรื่อง การศึกษาเบื้องต้น
    ม.ล.ปิ่น มาลากุล
    4 ธันวาคม 2523 (1 ชั่วโมง)

บทความเรื่องห้องสมุดเสียงนี้เป็นเพียงการนำเอาข้อมูลบางส่วนที่เห็นว่าน่าสนใจมาเขียน ถ้าหากท่านผู้ใดสนใจในรายละเอียดของเรื่องทั้งหมดสามารถหาอ่านได้ที่ หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่มที่ 26 ที่ชั้น 1 อาคาร 3 ฝ่ายบริการช่วยการค้นคว้าฯ (พ.ศ. 2560 ให้บริการสารานุกรมฯ  ที่ชั้น 3 อาคาร 3)

บทความโดย วรมน ทิพยโกศัย
ข่าวรามคำแหง ปีที่ 34 ฉบับที่ 7 วันที่ 7-13 มิถุนายน 2547