น้ำมะเน็ด ในขวดแบบโบราณ

น้ำมะเน็ดเป็นน้ำอัดลมชนิดหนึ่งที่คนไทยเรียกเพี้ยนมาจากน้ำ Lemonade ของฝรั่ง คำว่า Lemonade แปลว่าน้ำมะนาวก็จริง แต่น้ำมะเน็ดไม่ใช่น้ำมะนาวเปรี้ยวแท้ๆ แต่เป็นน้ำมะนาวปลอมๆ ที่มีการแต่งรสแต่งสีแล้ว ถ้าเปรียบเทียบกับน้ำอัดลม ในยุคปัจจุบันคงใกล้เคียงกับน้ำสไปรท์

ฝรั่งเริ่มผลิตน้ำมะเน็ดขายตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่ทราบ แต่ต้องหลังจากจาคอบ ชเวพ (Jacob Schwepp) คิดทำน้ำโซดาได้เมื่อ พ.ศ. 2335 หรือเมื่อราว 200 ปีก่อน

สำหรับในเมืองไทยนั้นพบโฆษณาขายน้ำมะเน็ดในหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์ ของหมอบรัดเลย์ ฉบับวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ.1866 โดยน้ำมะเน็ดในสมัยก่อนจะบรรจุอยู่ในชวดรีๆ แบบลูกรักบี้ และปิดปากขวดด้วยจุกไม้ก๊อก เขาออกแบบขวด ให้วางนอนขนานกับพื้นอยู่เสมอเพื่อไม่ให้จุกก๊อกแห้งและหด อ้างอิงตามรูปในหนังสือ The Art of the Label ของ Robert Opie ยอดนักสะสมบรรจุภัณฑ์ หน้า 10 กับหน้า 65น้ำมะเน็ด ในขวดแบบโบราณ

จนเมื่อ ค.ศ. 1875 หรือ พ.ศ. 2418 ตรงกับต้นสมัยรัชกาลที่ 5 มีการประดิษฐ์ขวดแบบคอคอด และมีจุกลูกแก้วอยู่ที่ปากขวด โดย Hirem Codd จึงมีการบรรจุน้ำมะเน็ด รวมทั้งน้ำโซดา และน้ำอัดลมอื่นๆ ลงในขวดชนิดนี้ ในการบรรจุต้องจับหัวขวดให้คว่ำลง เมื่อน้ำอัดลมเข้าไปในขวดแล้ว แรงแก๊สจะดันลูกแก้วให้ลอยขึ้นไปแนบและแน่นติดกับวงแหวนยางที่ปากขวด เมื่อจะดื่มต้องเอาไม้กระแทกลูกแก้วลงไปแรงๆ ส่วนวิธีรินไม่ให้ลูกแก้วกลิ้งมาปิดปากขวด คือ ต้องหมุนขวดให้ลูกแก้วไปตกอยู่ระหว่างคอหยักที่เขาทำไว้จึงจะรินน้ำได้สะดวก

น้ำมะเน็ดเคยมีขายตามโรงหนัง และตามร้านต่างๆ อยู่นานพอสมควร แต่ในที่สุดก็หายไปจากเมืองไทย เมื่อราว 50-60 ปีก่อน

ที่มา: หนังสือ สารพัดเก็บ Collectable Variety โดย เอนก นาวิกมูล
รวบรวมข้อมูลโดย : งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด