หนังสือชวนอ่านของ “พอล อดิเรกซ์”

เมื่อเอ่ยถึงคุณปองพล อดิเรกสาร หลาย ๆ ท่านคงรู้จักชื่อเสียงของท่านเป็นอย่างดีในฐานะนักการเมืองผู้เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แต่คงจะน้อยคนอีกเช่นกันที่จะทราบว่า คุณปองพล อดิเรกสารเป็นนักเขียน และยังเป็นนักเขียนที่ไม่ธรรมดาเพราะท่านเขียนนวนิยายเป็นภาษาอังกฤษ ใช้นามปากกาว่า “พอล อดิเรกซ์” (Paul Adirex) นามของพอล อดิเรกซ์ จึงเป็นนามปากกาใหม่ในแวดวงวรรณกรรมไทย ท่านแต่งนวนิยายไว้ 3 เล่ม คือ THE PIRATES OF TARUTAO (โจรสลัดแห่งตะรุเตา) MAKONG (แม่โขง) และ UNTIL THE KARMA ENDS (ตราบสิ้นกรรม) หนังสือนวนิยายทั้ง 3 เล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดย วิภาดา กิตติโกวิท

โจรสลัดแห่งตะรุเตา เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ของเกาะตะรุเตาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (เกาะตะรุเตาเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของหมู่เกาะตะรุเตา ได้รับการ
ประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลในปัจจุบัน) จากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของเกาะตะรุเตาซึ่งถูกใช้เป็นสถานที่กักกันนักโทษคดีอุฉกรรจ์ต่าง ๆ และนักโทษการเมือง นักโทษเหล่านั้นได้สร้างตำนานโจรสลัดแห่งตะรุเตาขึ้นมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้ที่ชอบอ่านนวนิยายอิงประวัติศาสตร์จะได้อรรถรสพร้อมข้อเท็จจริงที่ถูกต้องครบถ้วน ส่วนผู้ที่ชอบอ่านแนวผจญภัยก็ไม่ผิดหวังเพราะ “โจรสลัดแห่งตะรุเตา” ดำเนินเรื่องด้วยความขัดแย้งของเหตุการณ์ ความขัดแย้งระหว่างตัวละคร และความขัดแย้งในตัวเอง หัวใจของเรื่องอยู่ที่ “สาร” ที่ผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นว่า สงครามทำให้ชีวิตมนุษย์เปลี่ยนแปลงไม่เว้นแม้แต่มนุษย์จำนวนหนึ่งบนเกาะตะรุเตา และยังแสดงให้เห็นว่าความโลภของมนุษย์ก่ออาชญากรรมแห่งชีวิต นวนิยายเรื่องนี้มีส่วนทำให้ตำนานโจรสลัดแห่งเกาะตะรุเตาเป็นประวติศาสตร์ที่ต้องระลึกถึงต่อไป

แม่โขง เป็นนวนิยายที่ พอล อดิเรกซ์ ผูกเรื่องราวของการค้นหาทหารอเมริกันที่สูญหายไปในสงครามเวียตนาม การตามล่าสมบัติของกษัตริย์โบราณแห่งอาณาจักรลาวเรื่องของชนเผ่าภูริซึ่งเล่าขานเป็นตำนานลี้ลับที่ไม่มีปรากฏในแผนที่ใด ๆ การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงเพื่อเชื่อมไทย-ลาวทั้งทางด้านเศรษฐกิจการค้าและวัฒนธรรม
ตลอดจนขบวนการค้ายาเสพติด เรื่องเหล่านี้ถูกร้อยเข้าด้วยกันโดยพญานาค งูยักษ์ในตำนานของชุมชนลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งทำหน้าที่พิทักษ์สมบัติของแผ่นดิน แม่โขงจึง
เป็นจินตนิยายที่ผสมผสานความจริงทางสังคมเข้ากับจินตนาการของผู้แต่ง โดยมีคัมภีร์พุทธศาสนากับตำนานปรัมปราของไทยและลาวเป็นเครื่องยืนยันความเชื่อแต่โบราณกาล ความเกี่ยวพันธ์ของตัวละครสะท้อนความเชื่อในเรื่องภพและการเกิดใหม่ แก่นของเรื่องนี้คือ การเวียนว่ายของมนุษย์ในวัฏสงสารอันเนื่องจากกรรมในอดีตและกรรมในปัจจุบัน

ตราบสิ้นกรรม เป็นนวนิยายเกี่ยวกับการจารกรรมแผนทำลายรัฐบาลทหารพม่า เนื้อหาของเรื่องแสดงถึงความสัมพันธ์ของนานาประเทศ ซึ่งมีทั้งความสัมพันธ์แบบ
เปิดเผยตรงไปตรงมาและความสัมพันธ์แบบเร้นลับ “พอล อดิเรกซ์” ได้นำประสบการณ์และความรอบรู้ในเรื่องการต่างประเทศจากที่เคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศมาใช้ในการแต่งเรื่อง โดยนำเหตุการณ์จริงมาเสริมกับจินตนาการ ทำให้รายละเอียดและความแม่นยำของข้อมูลสร้างความสมจริงน่าเชื่อถือ ตราบสิ้นกรรมมิได้ให้เพียงความตื่นเต้นระทึกขวัญเท่านั้น แต่ยังให้แง่คิดทางพุทธศาสนาในเรื่องของ “กรรม” ไว้ด้วย

นวนิยายทั้ง 3 เล่มนี้ ให้เนื้อหาที่เป็นข้อเท็จจริงเพราะผู้เขียนเขียนด้วยภูมิความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ การเมือง และวัฒนธรรมทั้งของประเทศไทย ลาว และพม่า จึงเป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ อิงสภาพความเป็นจริง แต่ก็ผสานกับจินตนาการได้อย่างน่าอ่าน อีกทั้งยังสอดแทรกแง่คิดหลักธรรมของพุทธศาสนา ตลอดจนเรื่องกฎแห่งกรรมไว้ได้อย่างแนบเนียน และทั้ง 3 เรื่องนี้ยังนับเป็นมิติใหม่ของนวนิยายไทย เพราะผู้เขียนเขียนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด สืบเนื่องจากความตั้งใจเดิมของผู้เขียนที่ต้องการเปิดตลาดสู่นักอ่านนานาชาติ เพื่อให้วรรรณกรรมไทยก้าวสู่เวทีวรรณกรรมในระดับสากลและจุดมุ่งหมายที่สำคัญ คือ ต้องการเผยแพร่ประเทศไทยสู่สายตาชาวโลกนั่นเอง

ท่านที่สนใจหนังสือนวนิยายทั้ง 3 เล่มนี้หาอ่านได้ที่สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหงค่ะ

บทความโดย ชาลินี อันสมัคร
ข่าวรามคำแหง ปีที่ 33 ฉบับที่ 42 วันที่ 9-15 กุมพาพันธ์ 2547