หนังสืออนุสรณ์งานศพ

พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง
โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี
นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา

พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ใน “กฤษณาสอนน้องคำฉันท์” บทนี้ ถือเป็นบทพระนิพน์ธ์ที่มีความหมายเตือนสติมนุษย์ทุกผู้ทุกนามถึงสัจจธรรมแห่งการดำรงชีวิต โดยให้ระลึกไว้เสมอว่าเมื่อมีลมหายใจอยู่นั้นให้เพียรกระทำแต่ความดี และคุณประโยชน์ให้กับสังคมเพื่อคนที่อยู่ข้างหลังจะได้จดจำ จารึกถึงคุณงามความดี และคุณประโยชน์ที่ได้กระทำไว้เมื่ออำลาจากโลกนี้ไปแล้ว

หนังสืออนุสรณ์งานศพ สิ่งพิมพ์ประเภทหนึ่งที่ทำขึ้นเพื่อแจกเป็นอนุสรณ์ ระลึกถึงผู้วายชนม์ และประกาศคุณงามความดี หรือผลงานของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ให้กับผู้ที่มาร่วมงานศพ เป็นหนังสือที่มีคุณค่า ซึงบางเล่มจัดเป็นหนังสือหายาก เนื่องจากมีจำนวนพิมพ์จำกัดและไม่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายหนังสือทั่วไป นอกจากร้านหนังสือเก่าซึ่งก็มีราคาค่อนข้างสูง

หนังสือที่พิมพ์แจกเป็นอนุสรณ์ในงานศพเล่มแรกคือ สาราทานปริยายกถามรรค เป็นหนังสือที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้พิมพ์แจกในงานพระเมรุพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์เมื่อ พ.ศ. 2423 สำหรับการเรียบเรียงประวัติผู้วายชนม์พิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์งานศพเพื่อแจกเป็นที่ระลึกเริ่มเป็นที่นิยมในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และหนังสืออนุสรณ์งานศพที่ลงอัตชีวประวัติของผู้ตายล้วนๆเล่มแรก คือ ศรีสุนทราณุประวัติ ซึ่งเป็นชีวประวัติของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ในรัชกาลที่ 5 เมื่อ ร.ศ. 114 หรือ ปี พ.ศ. 2438 ปัจจุบันการพิมพ์หนังสืออนุสรณ์งานศพก็เป็นที่นิยมกระทำกันมาก นอกเหนือการแจกของที่ระลึกอื่นๆในงานศพ โดยเฉพาะผู้วายชนม์ที่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในด้านต่างๆ เช่นนักการเมือง ศิลปิน นักวิชาการและข้าราชการระดับสูง เป็นต้น

เนื้อหาในหนังสืออนุสรณ์งานศพนั้นสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ชีวประวัติของผู้วายชนม์ตั้งแต่วัยเด็ก จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต การศึกษา ประวัติการทำงาน หรือเนื้อหาสาระอื่นที่เกี่ยวข้องกับอาชีพและหน้าที่การงานเมื่อยังมีชีวิตอยู่ บางเล่มจะเป็นการบันทึกความรู้ทางวิชาการซึ่งอาจเป็นผลงานของผู้วายชนม์เอง หรือผลงานของผู้อื่นที่เป็นประโยชน์ ประสบการณ์ในแต่ละอาชีพเป็นต้น พร้อมภาพประกอบในแต่ละช่วงของชีวิต ที่ถ่ายร่วมกับผู้ใกล้ชิด ตลอดจนคำไว้อาลัยของเหล่าญาติมิตร และบุคคลสำคัญเพื่อบุคคลอันเป็นที่รักที่จากไป มักจะเป็นการพรรณนาด้วยข้อความที่มีความหมายลึกซึ้ง กินใจ แสดงถึงความผูกพัน อาลัยอาวรณ์ ทั้งในลักษณะร้อยแก้ว ร้อยกรอง ซึ่งถือเป็นผลงานที่มีคุณค่าทางวรรณกรรมอีกประเภทหนึ่ง และทำให้ผู้อ่านได้เรียนรู้ถึงอัตชีวประวัติของผู้วายชนม์อันหลากหลายของแต่ละชีวิตในแง่มุมต่างๆกันได้เป็นอย่างดี

ชีวิตคืออนัตตาอย่าวิตก สวรรค์นรกต้อนรับเมื่อดับขันธ์
ทุกอินทรีย์หมักหมมทับถมกัน เลวดีนั้นจะประทับอยู่กับใจ

บรรณานุกรม

  • ธัมมาภิสมัย อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายแพทย์พิพัฒน์ คุมเกษ ณ เมรุวัดเครือวัลย์วรวิหาร วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535 . กรุงเทพฯ : ส่องศยาม, 2542.
  • รัตนา เดชามหาชัย. “หนังสืออนุสรณ์งานศพ ในหอสมุดปรีดี พนมยงค์,” โดมทัศน์ . 22,11 (ม.ค. –มิ.ย.), 49-56.
  • สุภัคลักษณา, นามแฝง. กฤษณาสอนน้อง. กรุงเทพฯ : สำนักงานหอสมุดกลาง 09 , 2521.

บทความโดย ดวงพร พงศ์พานิชย์
ข่าวรามคำแหง ปีที่ 33 ฉบับที่ 20 วันที่ 8-14 กันยายน 2546