สารสนเทศบนเว็บไซต์สำนักหอสมุดกลาง

(ข้อมูลเมื่อปี พ.ศ. 2546)

นับจากวันนี้ย้อนหลังไป 32 ปี คือปี พ.ศ. 2514 ที่สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อตั้งขึ้นมาพร้อมกับการเปิดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย 32 ปีที่สำนักหอสมุดกลาง ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนงานวิชาการของมหาวิทยาลัย ที่ตอบสนองต่อการเรียนการสอน การวิจัยของอาจารย์ ข้าราชการและนักศึกษา จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2540 ได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศระบบห้องสมุดอัตโนมัติ INNOPAC มาใช้ เพื่อให้บริการการสืบค้นสารสนเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ สะดวกและรวดเร็ว มุ่งสู่ความเป็นสากลในโลกยุคปัจจุบัน

หน้าเว็บไซต์สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี พ.ศ. 2540
หน้าเว็บไซต์สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี พ.ศ. 2540

งานบริการ ถือเป็นภารกิจที่สำคัญ เป็นหัวใจของงานห้องสมุด สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตระหนักถึงภารกิจอันนี้ จึงได้สร้าง Website ขึ้นมา เพื่อแจ้งข่าวสาร ความเคลื่อนไหวของห้องสมุด นำเสนอสารสนเทศของห้องสมุด ตลอดจนแหล่งทรัพยากรสารนิเทศต่าง ๆ ที่มีบริการบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้บริการได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

เวิร์ลด์ ไวด์ เว็บ (World Wide Web)

World Wide Web หรือ WWW หรือที่เรียกอย่างสั้น ๆ ว่า “เว็บ” เป็นส่วนหนึ่งของระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ที่สามารถทำการติดต่อสื่อสารสืบค้นหาข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ ความบันเทิงต่าง ๆ ทั้งในรูปของเอกสาร ตาราง ภาพและเสียงได้อย่างง่าย และสะดวกรวดเร็ว โดย WWW จะมีการบรรจุเนื้อหาสาระต่าง ๆ มากมายลงในส่วนของเอกสารที่เรียกว่า “เว็บเพจ” ซึ่งเว็บเพจแต่ละเว็บเพจ สามารถเชื่อมโยงไปยังเว็บเพจอื่น ๆ ได้ด้วย โดยผ่านทางข้อความเสียงและภาพ ซึ่งมีลักษณะคล้ายใยแมงมุม ในการเปิดเว็บเพจจะต้องผ่านโปรแกรมประเภทบราวเซอร์ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ใช้ในการเปิดเอกสารทางอินเตอร์เน็ต เช่น Netscape Navigator, Internet Explorers เป็นต้น

เว็บไซต์ (Web site)

เว็บไซต์ (Web site) หมายถึงชุดเอกสารมัลติมีเดียที่เชื่อมโยงเข้าด้วยกัน โดยการใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบของเทคโนโลยีไฮเปอร์มีเดีย (Hypermedia) หรือการเชื่อมโยงข้อมูลไม่ว่าจะเป็นในรูปของข้อความ ภาพนิ่ง เสียง ภาพเคลื่อนไหว ที่เกี่ยวเนื่องเข้าได้ด้วยกัน เพื่อความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้ บนเว็บจะถูกแบ่งเป็นหน้า ๆ เหมือนเอกสารธรรมดา โดยเว็บไซต์ส่วนใหญ่จะมีโฮมเพจ (Home page) ซึ่งหมายถึงหน้าแรกของเว็บเพจทั้งหมดในไซต์นั้น

โฮมเพจ (Home page)

โฮมเพจ (Home page) หมายถึงหน้าแรกของเอกสารบนเว็บ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่เอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นหน้าที่มีข้อมูลแนะนำเบื้องต้นทั่ว ๆ ไป และมีจุดเชื่อมโยงไปยังเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง

เว็บไซต์ (Web site) ของสำนักหอสมุดกลาง

สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้จัดทำเว็บไซต์ของสำนักหอสมุดกลาง มี URL ที่ http://www.lib.ru.ac.th เพื่อเป็นแหล่งรวมสารสนเทศต่าง ๆ บริการแก่ผู้ใช้ให้ทราบข่าวสาร ความเคลื่อนไหวของห้องสมุด เข้าถึงแหล่งสารสนเทศต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เมื่อผ่านเข้าไปแล้วจะพบโฮมเพจที่มีหัวข้อต่าง ๆ ดังนี้

  1. About
  2. Services
  3. e-Contents
  4. e-Documents
  5. Link & Download
  6. FAQ
  7. Forum
  8. Guest Book
  9. Knowledge
  10. Home
  11. English (ภาคภาษาอังกฤษ)

เนื้อหาสาระที่นำเสนอในเว็บไซต์

  1. About จะเป็น About library หรือข้อมูลของห้องสมุด เป็นแหล่งสารสนเทศเกี่ยวกับสำนักหอสมุดกลาง กล่าวถึงประวัติ การบริหารงาน ระบบการจัดหมวดหมู่หนังสือ สถานภาพของทรัพยากรห้องสมุด ระเบียบการใช้ห้องสมุด กิจกรรมต่าง ๆ ของห้องสมุด เช่น การจัดประชุม – สัมมนา การจัดกิจกรรม สัปดาห์ห้องสมุด การอบรมการสืบค้นสารสนเทศ เป็นต้น
  2. Services เป็นแหล่งสารสนเทศบริการของสำนักหอสมุดกลาง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
    1. DB Services (Database Services) ให้บริการในส่วนของฐานข้อมูลต่าง ๆ ได้แก่
      • ฐานข้อมูลทรัพยากรห้องสมุด ให้บริการฐานข้อมูล INNOPAC สืบค้นข้อมูล
        หนังสือ วารสารและสื่อต่าง ๆ โดยสืบค้นจากบรรณานุกรมที่ใช้ทางเลือก
        * ผู้แต่ง * ชื่อเรื่อง * หัวเรื่อง * คำสำคัญ * เลขหมู่ L.C. * เลขหมู่อื่น * เลขมาตรฐานสากล
      • ฐานข้อมูลดรรชนีเอกสาร ให้บริการสืบค้นโดยใช้โปรแกรม CDS/ISIS ที่ใช้ทางเลือกสืบค้น 3 ทาง ได้แก่
        * ดรรชนีบทความวารสารภาษาไทย * ดรรชนีไมโครฟิล์มหนังสือพิมพ์ * ดรรชนีหนังสือพิมพ์ข่าวรามคำแหง
      • ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ ม.ร.และอื่น ๆ เป็นแหล่งสารสนเทศฐานข้อมูลที่จัดทำภายใต้ Web infoma เช่น ฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์มหาวิทยาลัยรามคำแหงฉบับเต็ม งานวิจัยมหาวิทยาลัยรามคำแหง ดรรชนีราชกิจจานุเบกษา ข่าวสารสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นต้น
      • ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ Reference Databases เป็นฐานข้อมูลประเภทอ้างอิงที่ใช้ค้นหาสารสนเทศที่อยู่ในสื่อต่าง ๆ เช่น
        – ฐานข้อมูลออนไลน์ที่ทบวงมหาวิทยาลัยจัดซื้อในรูปของภาคีความร่วมมือ (Consortium License) ได้แก่ DAO, ABI/INFORM, Eric, H.W.Wilson Education Full Text, ACM Association for Computer Machinery, MIT Cognet, MEDLINE
        – ฐานข้อมูล Journal Link
        – ฐานข้อมูลออนไลน์ที่สำนักหอสมุดกลางบอกรับ ได้แก่ Gale Expanded Academic Asap, H.W.Wilson OMNI File Full Text select, Blackwell-Ingenta, Blackwell-Synergy
        – ฐานข้อมูลออนไลน์ทดลองใช้ต่าง ๆ เป็นฐานข้อมูลที่ทางบริษัทต่าง ๆ นำเสนอสำนักหอสมุดกลาง โดยให้ผู้ใช้บริการได้ทดลองใช้ก่อนบอกรับเป็นสมาชิก ซึ่งจะแจ้งข่าวให้ทราบบนเว็บไซต์เป็นระยะ ๆ
    2. Library Services เป็นบริการต่าง ๆ ที่สำนักหอสมุดกลางจัดบริการ ได้แก่ แนะนำการใช้ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ฝึกอบรมการสืบค้นสารสนเทศ บริการกฤตภาค บริการวารสารฉบับปัจจุบันและย้อนหลัง บริการไมโครฟิล์ม ไมโครฟิช บริการสิ่งพิมพ์รัฐบาล บริการเสนอแนะหนังสือ เป็นต้น
    3. e-Contents เป็นแหล่งเอกสารสนเทศในรูปแบบของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่สำนักหอสมุดกลาง ให้บริการแก่ผู้ใช้ห้องสมุด แบ่งออกเป็น 5 ประเภทดังนี้
      1. สนเทศน่ารู้ นำเสนอสารสนเทศน่ารู้ น่าสนใจ จากการจัดบอร์ดนิทรรศการของฝ่ายวารสารและเอกสาร และฝ่ายอื่น ๆ
      2. บทความ นำเสนอเรื่องที่น่าสนใจจากบุคลากรของสำนักหอสมุดกลาง
      3. แนะนำเว็บไซต์ เป็นเว็บไซต์ที่น่าสนใจ มีประโยชน์ต่อการศึกษา
      4. แนะนำหนังสือ นำเสนอหนังสือที่น่าอ่าน น่าสนใจ ที่ให้บริการในสำนักหอสมุดกลาง
      5. เสนอเกร็ดความรู้ต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
    4. e-Document เป็นแหล่งสารสนเทศในรูปสิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ คู่มือการสืบค้นสารสนเทศ สารสำนักหอสมุดกลาง เอกสาร ISO 9002 การเขียนเอกสารระบบคุณภาพมาตรฐาน ISO 9002 เอกสารความร่วมมือระหว่างห้องสมุด ฯลฯ
    5. Link & Download เป็นแหล่งสารสนเทศที่ให้บริการในการสืบค้นสารสนเทศหลากหลายมีเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่สำนักหอสมุดกลาง รวบรวมเพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้บริการ ซึ่งมีทั้งการเชื่อมโยงและดาวน์โหลด ได้ดังนี้
      • Journal Online เป็นเว็บไซต์ที่น่าสนใจด้านการศึกษา
      • Favorites เป็นเว็บไซต์เครือข่ายมหาวิทยาลัยรามคำแหง และที่เกี่ยวข้อง เช่น หลวงพ่อจรัญ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง ฝ้ายคำดอทคอม สถาบันคอมพิวเตอร์ ห้องสมุดในประเทศไทย ห้องสมุดต่างประเทศ เป็นต้น
      • Education and Knowledge เป็นแหล่งสารสนเทศทางด้านการศึกษาและความรู้ทั่วไป ที่สามารถเชื่อมโยงไปได้ ดังเช่น เครือข่ายกาญจนาภิเษก เครือข่ายมหาวิทยาลัย (UNINET) เครือข่าย School net ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ห้องสมุดแผนที่โดย Texas University, Business in Thailand เป็นต้น
      • Search Engine เป็นฐานข้อมูลของเว็บเพจที่เราสามารถเข้าไปค้นหาได้ว่ามีอะไรอยู่ในอินเตอร์เน็ต เช่น Google, Yahoo, Excite, lycos, ค้นไทย, Thaisearch เป็นต้น
      • IT Links ให้บริการเชื่อมโยงไปแหล่งสารสนเทศทางด้าน IT เช่น NECTEC, Pantip, Thai Computer, Thai Linux เป็นต้น
      • Downloads ให้บริการ downloads โปรแกรมต่าง ๆ เช่น โปรแกรมฟังเพลง MP3 เจ้าเก่าแก่ โปรแกรมย่อไฟล์ขนาดเล็กยอดฮิต Acorbat reader McAfee Anti-virus รวมทั้งมีการสืบค้นต่าง ๆ เป็นต้น
    6. FAQ (Frequently Asked Questions) เป็นแหล่งสารสนเทศ บรรณารักษ์ – ผู้ใช้สัมพันธ์ เพื่อตอบปัญหาข้อข้องใจ ของผู้ใช้บริการสำนักหอสมุดกลาง ที่สอบถามหรือเสนอแนะการบริการของห้องสมุดจากหน้าจอ OPAC หรือ WebOPAC โดยคำถามหรือข้อเสนอแนะที่จะยกมาตอบในคอลัมน์นี้
      ผู้ถาม/เสนอแนะต้องระบุชื่อ/นามสกุล โดยจะไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อผู้ถาม/เสนอแนะ
    7. Forum เป็นแหล่งสารสนเทศในลักษณะกระดานข่าว ที่ผู้ใช้บริการสามารถถามปัญหาต่าง ๆ หรือมีเกร็ดความรู้นำเสนอ โดยจะมีการลงทะเบียนสมาชิกหรือไม่ก็ได้
    8. Guest Book เป็นสมุดเยี่ยมชมสำนักหอสมุดกลาง เมื่อผู้ใช้บริการเปิดเข้ามาใช้เว็บไซต์แล้ว สามารถลงนามเยี่ยม ใส่ E-mail address เสนอความคิดเห็น ลงวันที่ เวลาที่เข้าเยี่ยมชมได้ โดยจะมีเลขเรียงลำดับที่เข้าเยี่ยมชมด้วย
    9. Knowledge เป็นแหล่งสารสนเทศที่เป็นหนังสือ เอกสาร เผยแพร่เพื่อการศึกษา เช่น คณิตคิดเร็วและคณิตศาสตร์สำหรับสอบ Entrance ของ รศ.ทศพร คล้ายอุดม วิชา IT 105 (Introduction to Computer Systems) และ Management Information Systems (MIS) ของ ผศ.พรชัย จิตต์พานิชย์ เป็นต้น
    10. English เป็นการเปลี่ยนภาษาบนเว็บไซต์ให้เป็นภาษาอังกฤษ นอกจากนั้นบนเว็บไซต์จะมีแหล่งสารสนเทศจากข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รายการสถานีโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ บริการรถเมล์ ขสมก. ตารางเดินรถไทย ข้อมูลการเดินทางจาก ททท. ข่าวพยากรณ์อากาศ ข่าวจราจร ตรวจสอบค่าใช้บริการโทรศัพท์ กิจกรรมบนเว็บ เช่น บอกรับจดหมายข่าว โดยสมัครลงทะเบียนแจ้ง E-mail address เพื่อรับข่าวสารจากสำนักหอสมุดกลาง เป็นต้น ในส่วนท้ายของเว็บไซต์จะแจ้งลำดับที่ที่คุณเปิดเข้ามาเยี่ยมชม และมีการแจ้งวัน เดือน ปี และเวลาที่มีการปรับปรุงข้อมูลต่าง ๆ โดยปกติเว็บไซต์ของสำนักหอสมุดกลาง จะทำการปรับปรุงและแก้ไขเนื้อหาสาระอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มีข้อมูลทันสมัย ส่วนรูปแบบ (Format) จะทำการปรับปรุงปีละ 1 ครั้ง พร้อมทั้งให้ผู้ใช้บริการส่งข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะมาที่ webmaster@lib.ru.ac.th

สรุป

ห้องสมุดในยุคปัจจุบัน มีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องจัดทำเว็บไซต์เพื่อให้บริการสารสนเทศในรูปแบบใหม่ ทันสมัยทันต่อเหตุการณ์ เหมาะสมกับงานห้องสมุดในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ และเพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์กิจการและบริการของห้องสมุด สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้เล็งเห็นประโยชน์ดังกล่าวจึงจัดทำเว็บไซต์ของสำนักหอสมุดกลางขึ้น เพื่อเผยแพร่ภารกิจและบริการอย่างกว้างไกล ไม่ว่าผู้ใช้บริการจะอยู่ที่ใด สามารถเข้าถึง (Access) สารสนเทศสำนักหอสมุดกลางได้

บรรณานุกรม

  • จิตเกษม พัฒนาศิริ, 2531. เริ่มสร้างโฮมเพจด้วย HTML. กรุงเทพฯ : วิตตี้กรุ๊ป.
  • นพพร เพียรพิกุล. 2544. “เว็บไซต์ของห้องสมุดกับการให้บริการสารสนเทศ”. วารสารสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 8( ฉบับห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ) 56-66.
  • น้ำทิพย์ วิภาวิน. 2544. “ห้องสมุดเสมือน” วารสารสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 8( ฉบับ
    ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ) 1-7.
  • ผ่องพรรณ แย้มแขไข. 2544. “บริการอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่”. วารสารสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 8( ฉบับห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ) 45-55.
  • สุวันนา ทองสีสุขใส. 2544. “การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อการจัดการสารสนเทศของห้องสมุดมหาวิทยาลัยขอนแก่น”. บรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ มข. 19(1): 1-22. Available URL : http://www.lib.ru.ac.th

บทความโดย วิภาภรณ์ หาญสุทธิวารินทร์
ข่าวรามคำแหง ปีที่ 33 ฉบับที่ 15 วันที่ 4-10 สิงหาคม 2546