สิงโตคู่ หน้าสำนักหอสมุดกลาง

หลายคนสงสัยว่าทำไมมีสิงโตตั้งคู่อยู่หน้าสำนักหอสมุดกลาง ยังไม่มีผู้ใดให้คำตอบที่แท้จริงได้ แต่คงพอจะตอบให้หายข้องใจได้บ้างว่า สิงโต เป็นเจ้าป่า กล้าหาญไม่มีสัตว์ใดเทียบได้ และยังมีอำนาจแผ่ไปทั่วทุกทิศ

สิงโตมีความสัมพันธ์กับฮวงจุ้ยในฐานะเป็นสิ่งสิริมงคล คนจีนสมัยโบราณนิยมตั้งสิงโตหินไว้ตรงสองข้างประตู เพื่อข่มหรือขับไล่สิ่งชั่วร้าย โดยเชื่อว่าสิงโตสามารถขจัดสิ่งชั่วร้ายได้ ทำให้ภูติผีปีศาจนอกประตูไม่กล้ากล้ำกรายเข้ามาในบ้าน โดยเฉพาะหน้าประตูของสถานที่ราชการ จะตั้งสิงโตหินไว้หนึ่งคู่ ซึ่งนอกจากจะทำให้น่าเกรงขามแล้วยังถือเป็นสัตว์มงคล จะนำสิ่งอันเป็นมงคลมาสู่คนในสถานที่นั้น ๆ ด้วยเหตุนี้หน้าประตูสถานที่ราชการและจวนหรือบ้านพักของขุนนางชั้นผู้ใหญ่ของจีน จึงนิยมตั้งสิงโตหินไว้หน้าประตูหนึ่งคู่ ภายหลังจึงมีการนำสิงโตหินมาใช้ขับไล่สิ่งชั่วร้ายหรือสิ่งอัปมงคล ต่อมามีการย้ายสิงโตจากนอกบ้านเข้ามาตั้งไว้ในบ้านแทน

ในทางฮวงจุ้ยกำหนดว่าต้องตั้งในตำแหน่งที่ถูกโฉลกกันกับบ้านและเจ้าของบ้าน จึงจะขับไล่สิ่งชั่วร้ายได้ นอกจากสิงโตจะเป็นสัตว์มงคลที่ให้พลัง อำนาจ บารมีและความแข็งแกร่งแล้ว ยังช่วยเสริมฐานะทางการเงินและชื่อเสียงด้วย

การตั้งสิงโตในบ้านต้องดูขนาดของสิงโตให้เหมาะสมกับขนาดของบ้าน บ้านที่ใหญ่ กว้างเหมาะกับสิงโตขนาดใหญ่ ถ้าบ้านมีขนาดเล็กก็ควรประดับด้วยสิงโตขนาดเล็ก การจัดแต่งไม่สมดุลจะทำลายพลังที่ดีและทำให้อับโชคได้เช่นกัน

สำหรับสิงโตคู่หน้าสำนักหอสมุดกลาง คาดว่าน่าจะมาจากที่สถาปนิกได้นำหลักการทางฮวงจุ้ย ในเรื่องของทำเล ที่ตั้ง ทิศทาง การจัดสภาพแวดล้อม อาศัยทิศทางความสมดุลของธรรมชาติ และการประดับสิ่งสิริมงคลมาใช้ประกอบการออกแบบ โดยอาศัยหลักการที่ว่า

  1. สิงโตหินจะต้องวางเป็นคู่ เป็นตัวเมีย 1 ตัวและตัวผู้ 1 ตัว หากว่าตัวใดตัวหนึ่งแตกหักเสียหาย จะต้องรีบเปลี่ยนสิงโตหินคู่ใหม่เลย อย่าตั้งตัวที่เหลือให้อยู่โดดเดี่ยวเดียวดาย รวมทั้งควรปรับปรุงทาสีให้ดูใหม่อยู่เสมอ
  2. ต้องหันหัวสิงโตออกด้านหน้าสถานที่ราชการเสมอ อย่าหันหัวสิงโตเข้ามาในสถานที่ราชการ หรือบ้าน ด้วยเหตุผลที่ว่าสิงโตหันหัวออกด้านนอกจะช่วยขับไล่หรือหยุดยั้งสิ่งอัปมงคลไม่ให้เข้ามารบกวนคนที่อยู่ภายในสถานที่ราชการหรือบ้านนั้น ๆ โดยทั่วไปแล้วสิงโตหินที่ตั้งไว้ตามบ้านเรือนหรือสถานที่ราชการจะหันหัวออกด้านนอกบ้านหรือสถานที่ราชการเสมอ หมายถึงการหันหัวออกไปทางประตูใหญ่ หรือหันหัวออกนอกหน้าต่าง จะประกันได้ว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง

สิงโตหินคู่ที่ตั้งอยู่หน้าอาคารสำนักหอสมุดกลางนั้น ตั้งอยู่ห่างจากตัวอาคาร เดิมตั้งโดดเด่นเป็นสง่าอยู่สองข้างทางเดินด้านหน้า แต่เมื่อมีการปรับภูมิทัศน์โดยรอบอาคารสำนักหอสมุดกลาง เมื่อปี พ.ศ. 2545 โดยปรับทางเดินด้านหน้าให้เป็นสนามหญ้า ทำให้ความโดดเด่นของสิงโตลดลง แต่ยังคงยืนคู่กันอยู่สนามด้านหน้าอาคาร เปรียบเสมือนตั้งสิ่งประดับที่เป็นสิริมงคล สกัดสิ่งชั่วร้ายหรือสิ่งอัปมงคลไม่ให้เข้ามาทำร้ายคนในสำนักหอสมุดกลาง ถ้าคนคนนั้นกระทำแต่ความดีความชอบความเจริญงอกงามให้แก่ราชการ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าสิงโตคู่หน้าสำนักหอสมุดกลาง ดูจะเล็กลงไม่สมดุลกับตัวอาคารที่ขยายเพิ่มเป็นอาคาร 2 และอาคาร 3 อย่างไรก็ตามหากท่านใดมีคำตอบที่แท้จริงในเรื่องสิงโตคู่หน้าสำนักหอสมุดกลาง ขอได้โปรดแจ้งผู้เขียนด้วยจักขอบคุณยิ่ง

บทความโดย ชวนพิศ สุศันสนีย์
ข่าวรามคำแหง ปีที่ 34 ฉบับที่ 8 วันที่ 14-20 มิถุนายน 2547