หุ่นกระบอกไทย

หุ่น คืออะไร ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 อธิบายว่า “หุ่น น. รูป, รูปแบบ, รูปตุ๊กตา, รูปแบบที่จำลองจากของจริงต่าง ๆ ; รูปปั้นหรือแกะสลักที่ทำโกลนไว้เพื่อเป็นแบบชั่วคราว ; ชื่อการเล่นมหรสพที่ใช้รูปหุ่นแสดงเป็นเรื่องราว

หากจะท้าวความถึงประวัติความเป็นมาของหุ่นกระบอกและการแสดงหุ่นกระบอกของไทย น้ำดอกไม้ (2544: 58-62) ได้กล่าว่า การแสดงหุ่นกระบอกสามารถย้อนเวลาได้ถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น หุ่นกระบอกสมัยแรกเป็นหุ่นที่นายเหน่ง ช่างชาวสุโขทัย ทำขึ้นเลียนแบบหุ่นจีนไหหลำ ลักษณะจึงคล้ายหุ่นจีนมากกว่า กระทั่งหม่อมราชวงศ์กระต่าย อมาตยกุล (คุณเถาะ) ทำหุ่นเลียนแบบขึ้นแสดงในกรุงเทพมหานคร เรียกันว่า หุ่นคุณเถาะ และเปลี่ยนเป็นเรียกหุ่นกระบอกในภายหลัง เนื่องจากการใช้กระบอกเล็ก ๆ เป็นแกนของลำตัวหุ่น ศีรษะหุ่นเป็นแบบหัวโขนละคร ลำตัวใช้ถุงคลุม แขนและขาจึงไม่มี

หุ่นกระบอกมีโรงเหมือนอย่างโรงโขนหน้าจอ คือมีผ้าขาวเชิดอยู่หลังจอ มีแผงหน้ากั้นสูง มิให้คนดูมองเห็นหลังโรง การประดับลวดลายของเวทีและตัวโรงทำเป็นลายอย่างจีนเพื่อแสดงให้เห็นว่ามาจากหุ่นจีน เพลงหลักที่ใช้ดำเนินเรื่องผสมผสานกับเสียงซออู้ คือเพลงสังขาราหรือเพลงหุ่นกระบอก

การแสดงของหุ่นกระบอกคือการแสดงอย่างละคร มักนำวรรณคดีเรื่องเอกของไทยมาเล่น เช่นเรื่องพระอภัยมณี เรื่องรามเกียรติ์ และเรื่องสังข์ทอง เป็นต้น หุ่นกระบอกยกเลิกการแสดงไปในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมที่มีรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ปกครอง เพราะมีพระราชบัญญัติกำหนดวัฒนธรรมทางศิลปกรรมเกี่ยวกับนาฏศิลป์ และห้ามการแสดงที่มีรากเหง้ามาจากต่างชาติ หุ่นกระบอกจึงต้องยุติการแสดงในปี พ.ศ. 2485 และแทบไม่ได้ฟื้นคืน กระทั่งเริ่มมีการฟื้นฟูหุ่นกระบอกขึ้นอีกครั้ง โดยนายเปียก ประเสริฐกุลและบุตรสาว คือนางชื้น ประเสริฐกุล หุ่นกระบอกกับมามีชีวิตใหม่อีกครั้งอย่างแท้จริงเมื่อปี พ.ศ. 2518 อาจารย์จักพันธุ์ โปษยกฤต นายช่างเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้สร้างหุ่นของตนเองขึ้นอย่างวิจิตร เพื่อแสดงเรื่องพระอภัยมณี ตอนหนีนางผีเสื้อสมุทร ด้วยความงดงามยิ่งของหุ่นจักรพันธุ์ ผนวกกับฉากและการแสดงที่ประณีตกว่าหุ่นกระบอกดั้งเดิม ทำให้คนทั่งไปหันมาสนใจมรดกทางวัฒนธรรมของชาติประเภทนี้อีกครั้ง และเป็นการเปิดโอกาสให้คณะหุ่นกระบอกของคนรุ่นใหม่ เช่นคระหุ่นครูไก่ (สุรัตน์ จงดา) ที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2540 และได้ศึกษาการเชิดหุ่นกระบอกากครูบุญรอด ประกอบนิล และอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ประสบความสำเร็จ และมีชื่อเสียงอย่างน่าชื่นชมในด้านฝีมือเชิดชักเชิงช่าง และกลวิธีในการแสดงประกอบกับการบรรเลงปี่พาทย์ ที่ครบกระบวนตามอ่างการแสดงมหรสพไทย

หุ่นกระบอกของไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ศักดา ปั้นเหน่งเพชร (2522: 264-265) การละเล่นเครื่องแสดงหุ่นกระบอกเป็นที่รวมแห่งวัฒนธรรมหลายสาขา แต่ละสาขาก็มีความสำคัญในฐานะเป็นเครื่องบ่งชี้อารยธรรมทั้งสิ้น บรรพบุรุษของชาวไทยได้พยายามคิดดัดแปลงวิธีสร้างและวิธีการเล่นมหรสพชนิดนี้ให้เหมาะสมกับสภาพของสังคมและความนิยมของชนในชาติ ความสามารถเชิงการคิดสร้างสรรค์เช่นนี้ แสดงให้เห็นคุณภาพและระดับความเป็นอยู่อันสูงด้วยวัฒนธรรมของบรรพบุรุษไทย ชาติต่าง ๆ ซึ่งเจริญรุ่งเรืองด้วยวัฒนธรรมย่อมมีการละเล่นและการแสดงมหรสพประจำชาติ ซึ่งรวมทั้งการแสดงหุ่นด้วย การละเล่นชนิดนี้จึงมีส่วนช่วยให้เกิดความวิจักษ์และให้เห็นถึงความเจริญด้วยวัฒนธรรมของชาวไทยที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอารยธรรมประเทศใด ๆ ในโลก อนึ่งการประดิษฐ์คิดค้นให้เกิดมีการละเล่นชนิดนี้ขึ้นได้ต้องใช้กำลังสมอง กำลังกายและกำลังใจ ตลอดจนเวลาเป็นอันมาก มรดกทางวัฒนธรรมการเล่นหุ่นกระบอกของไทยจึงนับได้ว่าเป็นมรดกที่มีคุณค่าอย่างยิ่งสิ่งหนึ่ง ฉะนั้นจึงมีการจรรโลงอนุรักษ์กาละเล่นมหรสพชนิดนี้ไว้ในฐานะที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติสืบไป

บรรณานุกรม

  • น้ำดอกไม้, นามแฝง. (กันยายน 2544). หุ่นกระบอกพระอภัยมณี. ว.กินรี 19,9: 58-62.
  • ศักดา ปั้นเหน่งเพ็ชร. 2522. หุ่นกระบอกไทย. กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่เอกลักษณ์ไทยกระทรวงศึกษาธิการ.

บทความโดย นพลักษณ์ ทองศาสตรา
ข่าวรามคำแหง ปีที่ 33 ฉบับที่ 18 วันที่ 25-31 สิงหาคม 2546