ผ้าไทย

ผ้าไทย (ผ้ามัดหมี่)

“ผ้าไทย” มีมากมายหลายประเภท แต่ละประเภทมีลวดลายและความสวยงามที่แตกต่างกันออกไป ลวดลายบนผืนผ้าไทยนั้นบ่งบอกถึงภูมิปัญญาไทยที่มีมาแต่โบราณ และมีการพัฒนาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

การทอผ้าผื้นเมืองจัดเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า และเอกลักษณ์ของกลุ่มชนที่สร้างสรรค์เอาไว้ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน ลวดลายบนผืนผ้าเปรียบได้ดังงานศิลปะมีภาษาพูดของตนเองที่ต้องมีการสร้างสรรค์และแสดงแนวคิดเกี่ยวกับลวดลายลงไปบนผืนผ้าอย่างสวยงาม สำหรับผ้าของไทยนั้นเราใช้วัตถุดิบทั้งฝ้ายและไหม ซึ่งคุณสมบัติของเส้นใยของผ้าฝ้ายจะดูดความชื้นได้ว่าย ดังนั้นเมื่อสวมใส่ผ้าที่ทำด้วยผ้าฝ้ายจะมีความรู้สึกเย็นสบาย สำหรับไหมนั้นเส้นไหมมีคุณสมบัติลื่น มัน และยืดหยุ่นได้ดี สำหรับเทคนิค และการทอผ้าไทย มีลวดลายและความแตกต่างกัน ดังนี้

  1. ผ้ามัดหมี่ ลวดลายของผ้ามัดหมี่มีที่มาจากลายไทย ลายฉลุไม้ ตามอาคารไม้ หลังเก่า ที่ฉลุเป็นลายผลไม้ ดอกไม้ สิ่งแวดล้อมรอบๆตัว ผ้ามัดหมี่นี้นิยมทอทั้งจากฝ้ายและไหม
  2. ผ้าจก ลวดลายในการทอจกจะเป็นความคิดสร้างสรรค์ โดยที่ไม่ได้กำหนดเอาไว้ล่วงหน้า ลวดลายบางส่วนมีคติความเชื่อแฝงเอาไว้ เช่นลวดลายของสัตว์ต่างๆ ได้แก่ ลายนาค ลายหงส์ ลายสิงห์ ลายไก่ เป็นต้น
  3. ผ้าขิด ลวดลายในการทอผ้าขิดจะเป็นลายเรขาคณิตขนาดใหญ่เป็นหลัก เช่น รูปแบบของสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด รูปแบบของทรงสามเหลี่ยม เป็นต้น
  4. ผ้าแพรวา ลวดลายในการทอเป็นการผสมผสานระหว่างลายขิดและลายจก ลายหลักที่นิยมได้แก่ลายพันมหาอุ้มหงษ์ นาคสี่แขน ช่อขันหมาก เป็นต้น
  5. ผ้ายกดอก ลวดลายการทอผ้ายกดอกนี้จะมีลวดลายคล้ายกับการทอขิด ส่วนใหญ่จะใช้ดิ้นเงินดิ้นทองเพื่อให้ต่างจากผ้าอื่น ๆ และการทอผ้ายกนี้จะใช้เวลานานมากทำให้มีราคาแพง

อย่างไรก็ตาม ผ้าทอพื้นเมืองในแต่ละท้องถิ่นในประเทศไทย จะแตกต่างกันไปบ้างตามวัตถุดิบและตามความต้องการของตลาด แต่ก็ยังคงรูปแบบดั้งเดิมไว้ให้ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

บทความโดย : พิลิปดา นาคะประทีป
ข่าวรามคำแหง ปีที่ 33 ฉบับที่ 8 วันที่ 16-22 มิถุนายน 2546

ภาพถ่ายโดย : นางสาวรติรัตน์ แก้วแบน งานสื่อมัลติมีเดีย ฝ่ายเทคโนโลยีห้องสมุด