เชื่อว่าเจ้าของสุนัขหลายคนคงต้องมีคำถามในใจว่า ทำไมท่าฉี่ของสุนัขตัวผู้และตัวเมียจึงแตกต่างกัน สุนัขตัวผู้ชอบยกขาฉี่มากกว่านั่งยองๆ ฉี่เหมือนเช่นตัวเมีย นั่นก็เพื่อทำให้กลิ่นของฉี่ที่จะบ่งบอกถึงอาณาเขต ยังคงใหม่สดมากกว่ากลิ่นฉี่ที่ถูกปล่อยอยู่ตามพื้น เพราะจะโดนเหยียบไปเหยียบมา ไม่เหมือนตามกำแพง หรือเสาไฟฟ้าที่ไม่มีใครมายุ่งด้วย และการยกขาฉี่ยังทำให้กลิ่นนั้นอยู่สูงขึ้นมาถึงระดับจมูกของสุนัขตัวอื่นๆเพื่อบอกให้รู้ว่า แถวนี้น่ะมีเจ้าถิ่นคุมอยู่แล้วนะ ขณะเดียวกันก็ยังเป็นการฝากข้อความไว้ให้ตัวเอง เพื่อที่เวลาไปไหนมาไหนจะได้ไม่หลงทาง แถมยังบอกเป็นนัยให้สุนัขตัวอื่นๆ รู้ถึงสภาพทางเพศของเขา และขอบเขตอาณาจักรที่ครอบครองอยู่ นั่นคือ ทำให้สุนัขตัวเมียรับรู้ว่ามีตัวผู้เนื้อหอมอาศัยอยู่แถวๆนี้ หรืออาจทำให้สุนัขร่อนเร่ไม่กล้าเข้ามาแหยมก็มีสิทธิเหมือนกัน ที่มา: นิตยสาร Lisa vol.6 no.11 วันที่ 17.3.2005 รวบรวมข้อมูลโดย: งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด
Tag: พฤติกรรมสัตว์
เคยไหมที่เวลาเราให้อาหารหรือเปลี่ยนน้ำให้กับปลา ก็อดที่จะพูดคุยกับปลาไม่ได้ เพราะการคุยกับสัตว์เลี้ยงนั้นเป็นการสื่อสารถึงความรักที่คุณมีให้แก่เขา แต่กับปลาล่ะ เวลาที่เราพูดด้วยนั้นเขาจะได้ยิน และเข้าใจที่เราพูดด้วยหรือเปล่า ถ้าบอกว่าปลาสามารถได้ยินเสียง ก็คงมีคนถามต่ออีกว่า แล้วไหนล่ะหูของปลา เนื่องจากปลาไม่มีหูส่วนนอกหรือใบหูให้เห็น แต่จริงๆ แล้วปลานั้นได้ยินเสียงจากภายนอก โดยใช้เส้นข้างลำตัวมาทำหน้าที่ในการรับเสียง จากนั้นก็ส่งสัญญาณต่อไปสู่หูชั้นในซึ่งมีหน้าที่รับเสียง และส่งสัญญาณต่อไปยังสมองในการรับรู้ และยังเป็นการรักษาสมดุลในการทรงตัว เช่นเดียวกับมนุษย์ ทว่าความเข้าใจนั้น ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องบอกว่าปลาไม่มีวันเข้าใจภาษาใดๆ ในโลก หรือแม้แต่ภาษาของปลาด้วยกันเอง เพราะปลานั้นมีสมองเล็กมากประมาณเมล็ดถั่วเขียว และมีความจำที่สั้นมากๆ เหมือนที่เราเรียกคนมีความจำสั้นว่า สมองปลาทอง ดังนั้น ปลาจึงดำรงชีพอยู่ด้วยความรู้สึก ที่มา: นิตยสาร Lisa vol.6 no.4 วันที่ 27.1.2005 รวบรวมข้อมูลโดย: งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด
คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า วัวกระทิง (bison) ไม่ชอบสีแดง นักสู้วัวกระทิ้งจึงใช้ผ้าคลุมสีแดง เพื่อยั่วให้วัวโกรธ เรื่องนี้มีการทดสอบมาแล้วหลายครั้งหลายหน ปรากฎว่าวัวมีประสบการณ์ต่อสิ่งแวดล้อมที่มีสีดำกับขาว และอาจเห็นสีเทาแก่กับเทาอ่อนได้ นอกจากนี้ยังได้ทดลองกับสัตว์อื่นๆอีกปรากฎว่า มีลิงเท่านั้นที่สามารถเข้าใจในเรื่องสีต่างๆ ได้ ดังนั้น สีแดงจึงไม่มีผลต่อความรู้สึกของวัวเลย ถ้าเช่นนั้นทำไมมาทาดอร์ (นักสู้วัวในกีฬาสู้วัวของสเปน) จึงชอบใช้ผ้าคลุมสีแดงยั่ววัวให้โกรธ คำตอบอาจมีว่า สีแดงช่วยทำให้ผู้ชมรู้สึกตื่นเต้น ผ้าคลุมสีแดงจึงมีไว้ยั่วผู้ชมมากกว่า กีฬาสู้วัวถึงแม้จะดูสนุกแต่ถ้าพลาดขึ้นมาละก็ ชีวิตของนักสู้วัวเรียกได้ว่าไม่ตายก็พิการเอาง่ายๆ เชียวล่ะ แต่ถึงอย่างนั้นคนสเปนเขาก็ยังนิยม และชอบดูกีฬาสู้วัวประเภทนี้อยู่ดีนั่นแหละ ที่มา: นิตยสาร Lisa vol.5 no.36 วันที่ 18.11.2004 รวบรวมข้อมูลโดย: งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด
หอยในอ่างปลานั้นอาจติดมาจากสาหร่าย หรือต้นไม้น้ำที่คุณนำมาประดับประดาในอ่างปลา จริงๆ แล้วเราไม่จำเป็นจะต้องกำจัดหอยเหล่านั้นเลย เนื่องจากว่า.. หอยจะช่วยในการทำความสะอาดที่อยู่ของปลาได้เป็นอย่างดี โดยจะคอย กินเศษอาหาร ขี้ปลา และสิ่งสกปรกอื่นๆ ทำให้อ่างปลาหรือตู้ปลาของคุณ สะอาดและไม่ต้องเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ นอกจากนั้นหากริมตู้กระจกมีตะไคร่น้ำเกาะ หอยก็จะคอยดูดตะไคร่น้ำเหล่านั้น ทำให้ตู้ปลาสะอาดตายิ่งขึ้นทีเดียว หอยที่เหมาะแก่การเลี้ยงในตู้ปลาควรจะเป็นหอยตัวเล็กๆ อย่างเช่น หอยพื้นบ้านของไทย หรือหอยแรมชอร์น เพื่อที่จะได้ไม่มาแย่งออกซิเจนจากปลา ที่มา: นิตยสาร Lisa vol.5 no.30 วันที่ 7.10.2004 รวบรวมข้อมูลโดย: งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด
มีความเชื่อที่บอกว่าหากจับเนื้อต้องตัวกบหรือคางคก คุณจะเป็นหูดตะปุ่มตะป่ำ ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย แต่คุณจะเป็นหูดแน่นอนหากคุณได้รับเชื้อไวรัสบางชนิดที่ผิวหนัง ไม่ใช่จากการจับถูกตัวสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอย่างกบ หรือคางคกท้าวแสนปมแม้แต่น้อย อันที่จริงผิวหนังที่เป็นมันลื่นของกบ มีหน้าที่ป้องกันไม่ให้ผิวหนังสูญเสียความชุ่มชื้นในเวลาที่กบไม่ได้อยู่ในน้ำเท่านั้นเอง ส่วนผิวปุ่มๆ ของคางคกหรือกบบางชนิดนั้นใช้สำหรับการพรางตัวให้พ้นจากการล่า หรือถูกจับกิน หรือซ่อนตัวเพื่อหาอาหารโดยปลอมแปลงสีให้ดูคล้ายกับใบไม้ กิ่งไม้ หรือสิ่งแวดล้อมที่เขาอยู่ แต่สารที่หลั่งจากต่อมบริเวณกระหม่อมของกบและคางคก อาจมีพิษระคายเคืองต่อผิวหนังของคุณ และอาจมีพิษต่อสัตว์เลี้ยงเช่นสุนัขของคุณได้ ถ้าหากไปคาบคางคกเข้าละก็ปากจะบวมเป่งจนน่ากลัว ต้องพาเจ้าตูบไปหาหมอฉีดยาโดยด่วนเลยค่ะ ที่มา: นิตยสาร Lisa vol.5 no.25 วันที่ 2.9.2004 รวบรวมข้อมูลโดย: งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด