วิชาตัวเบา

วิชาเหมือนสินค้า อันมีค่าอยู่เมืองไกล
ต้องยากลำบากไป จึงจะได้สินค้ามา…

คำกลอนดังกล่าวนี้ท่านผู้อ่านที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป คงจำกันได้ว่าเป็นบทกลอนที่เคยท่องจำกันสมัยเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษา คำกลอนดังกล่าวข้างต้นนี้เป็นความจริงอย่างยิ่ง แสดงให้เห็นว่าการศึกษาทุกอย่างจะต้องมีความพากเพียรจึงจะประสบผลสำเร็จ และวิชาตัวเบาที่แนะนำให้อ่านในที่นี้ ก็เช่นเดียวกัน ถ้าผู้ใดอ่านแล้วนำไปฝึกฝน จิตใจตนเองทุกวันๆ ก็จะประสบความสำเร็จ มีความสุข มีเมตตา กรุณา มองชีวิตทุกอย่างในโลกด้วยสายตาอันสดใสสวยงาม พร้อมที่จะให้อภัยผู้อื่นเสมอ

วิชาตัวเบา เป็นชื่อหนังสือที่รวบรวมจากข้อเขียนที่คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ซึ่งเขียนไว้ในคอลัมน์ Well Being ของนิตยสาร Health & Cuisine และบางส่วนจากนิตยสารอื่น ๆ คุณหญิง เขียนโดยใช้ประสบการณ์จากชีวิตจริง ทั้งที่เกิดขึ้นกับตัวคุณหญิงเอง และจากคนรอบข้าง โดยถ่ายทอดความรู้สึกออกมาเหมือนคุยกับเพื่อนที่สนิทคุ้นเคยเป็นกันเองด้วยอารมณ์ขัน รอบรู้เรื่องของชีวิต ซึ่งบางเรื่องอ่านแล้วรู้สึกเหมือนกับว่าเข้าไปนั่งอยู่ในใจของเรา ความเข้าใจชีวิตทำให้คุณหญิงได้เจาะลึกเบื้องหลังของจิตใจด้วยภาษาชีวิต ถึงแม้ว่าไม่ได้ร่ำเรียนมาทางด้านจิตวิเคราะห์ก็ตาม แต่เมื่ออ่านแล้วมีความรู้สึกว่าบางเรื่องช่างตรงกับความรู้สึกของเรา หรืออาจพูดได้ว่า “โดนใจ” นั่นเอง เช่น

เรื่องของคนใจน้อย จากเรื่อง ใจน้อย น้อยใจ บรรยายไว้ว่า… “คนใจน้อยจะพอใจลึก ๆ ถ้าคนที่ทำให้เขาน้อยใจนั้นรู้สึกผิดและงอนง้อ ขอโทษ…” หรือการมองโลกในแง่ดีจากเรื่อง ข้อดีของขี้ลืม คุณหญิงได้ให้ข้อคิดไว้ว่า… “มองในแง่ดี จะเห็นว่าการลืมช่วยปัดเรื่องจุกจิกรกสมองให้หลุดร่วงไป ช่วยให้ความคิดโปร่ง ใจสบาย เพราะสมองแออัดด้วยเรื่องเล็กเรื่องน้อย ก็เหมือนห้องที่มีสิ่งสัพเพเหระมากมายเข้าไปเบียดเนื้อที่เก็บของมีค่า จะหยิบฉวยของดี ๆ มาใช้ก็จะไม่รวดเร็วว่องไว…” และการให้อภัยจากเรื่อง ให้อภัย – ปลดโซ่จากใจ ให้ข้อคิดไว้ว่า… “การยกโทษไม่ยากนักเพราะอยู่ที่ความคิด เหตุผล คำพูด และพฤติกรรมภายนอก แต่การอภัยยากเย็น เพราะอยู่ที่ความรู้สึกและวิธีคิดที่ฝังลึก ในมุมกลับ การให้อภัยจะเกิดขึ้นอย่างง่ายดายและเป็นธรรมชาติ เมื่อใดที่ใจสงบ ปล่อยวาง ไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง…”

จุดเด่นของวิชาตัวเบาทั้งหมดนี้ นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ได้เขียนไว้ในคำนำว่า… “คือวิธีคิด พระพุทธองค์เคยตรัสไว้ทำนองที่ว่า ทุกสิ่งอยู่ที่ใจ หรือความคิดนั่นเอง ถ้าคิดดีพูดดี เหมือนรอยล้อเกวียนที่ตามรอยเท้าโค ฉันนั้น การคิดดี เป็นความคิดทางบวก และไม่ยึดมั่น ถือมั่น ใน “ตัวกู” และ “ของกู” … หนังสือเล่มนี้เหมาะอย่างยิ่งที่ทุกคนควรอ่าน อ่านแล้วท่านจะรู้สึกตัวเบา … เบาจริงๆ

บทความโดย จารุวรรณ ตันวิจิตร
ข่าวรามคำแหง ปีที่ 33 ฉบับที่ 50 วันที่ 5 -11 เมษายน 2547