คำว่า “ตีฆ้องร้องป่าว” กล่าวกันขึ้นในสมัยใด ด้วยเหตุใด
All Posts
สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีพระบรมราชโองการให้ประกาศเรื่องใดให้ราษฎรทราบพระราชกฤษฎีกา ประเพณีเดิมในกรุงเทพฯ กรมเมืองให้นายอำเภอเป็นเจ้าพนักงานไปเที่ยวอ่านประกาศตามตำบลที่ชุมนุม ส่วนหัวเมืองทั้งปวงเจ้าเมืองกรมการให้กำนันเป็นพนักงานอ่านประกาศ เมื่อพนักงานจะอ่านประกาศที่ตำบลใด ให้ตีฆ้องเป็นสัญญาณเรียกราษฎรมาประชุม แล้วอ่านประกาศให้ฟัง ณ ที่นั้น วิธีประกาศเช่นนี้จึงเรียกกันว่า “ตีฆ้องร้องป่าว” ที่มา: ปัญหาสอบเชาวน์ และความรู้รอบตัว รวบรวมโดย: ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ รวบรวมข้อมูลโดย: งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด
ที่มาของสำนวนไทย “ควันหลง”
All Posts
สำนวนไทยคำว่า “ควันหลง” เป็นสำนวนที่ได้มาจากวงนักเลงสูบฝิ่นหรือกัญชา เพราะพวกนี้จะเข้าใจคำว่า “ควันหลง” เป็นอย่างดีที่สุด หมายความถึงควันที่หลงเหลืออยู่ในบ้องกัญชาหรือกล้องสูบฝิ่น ภายหลังที่สูบแล้ว คนที่ไม่เคยสูบเมื่อได้เห็นเข้าก็มักอยากลองสูบ หรือลองดูดดูว่าจะมีรสชาดเป็นฉันใด ครั้นดูดดูเล่นๆนึกว่าเป็นกล้องเปล่า แต่กลายเป็นอัดเอาควันหลงเข้าไปเต็มปอด เพราะยังเหลือค้างในกล้อง จะเกิดความมึนเมาขึ้นทันทีทันควัน ในทางสำนวนหมายถึงผู้ที่ไม่ได้เป็นตัวการ แต่พลอยถูกกระเส็นกระสายในเรื่องร้ายๆ ที่เขาก่อกันขึ้นไว้เป็นการใหญ่ แล้วพลอยถูกเกาะกุมตัวไปด้วยภายหลัง โดยสำนวนจึงหมายถึงว่าผู้นั้นโดนเอาควันหลงเข้าให้แล้ว ที่มา: หนังสือ ปัญหาสอบเชาวน์และความรู้รอบตัว โดย ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ รวบรวมข้อมูลโดย: งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด