เริ่มแรกการเชียร์ในเมืองไทย
All Posts
ศจ.นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ เล่าไว้ในหนังสืออวยนิมิต ซึ่งคณะศิษย์จัดรวบรวมพิมพ์ในวาระอายุครบหกสิบปีของท่านไว้ว่า หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ (วาด แย้มประยูร) ซึ่งเป็นผู้เริ่มการจัดตั้งคณะทันตแพทย์ศาสตร์ขึ้น และเป็นคณบดีคนแรก เป็นผู้ริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรก โดยนำวิธีเชียร์แบบอเมริกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2475 โดยได้ฝึกซ้อมการเชียร์การแข่งขันกีฬาระหว่างคณะของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และแต่งเพลงเชียร์เพลงแรกให้คณะแพทย์ศาสตร์คือ ” เฮล – เฮล – เดอะ – แกงก์ส – ออลล์ – เฮียร์ – ว็อต – เดอะ – เฮ็ลล์ – ดู – วี – แคร์ – ว็อต – เดอะ – เฮ็ลล์ – ดู – วี – แคร์ – ร่ะ “ พร้อมกับสอนให้นิสิตร้องและออกท่าทางประกอบไปด้วย วันแข่งขันจริงท่านได้ทำหน้าที่เป็น “เชียร์ลีดเดอร์” คนแรกของเมืองไทยเอง การแข่งขันวันนั้นฝ่ายลูกศิษย์ของท่านคือคณะแพทย์ศาสตร์ชนะไปอย่างงดงาม และเพลงเชียร์ของท่านก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของคณะแพทย์ศาสตร์ (คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาลแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้น ซึ่งปัจจุบันเป็นคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล) มาจนทุกวันนี้ ระบบเชียร์กีฬาได้ค่อยๆ แพร่เข้าสู่คณะอื่นๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วก็ต่อไปยังสถานศึกษาทั่วประเทศ ต่อมาได้มีการพัฒนาขึ้นจากการร้องเพลงเชียร์อย่างเดียวในตอนแรก ได้มีการแต่งตัวด้วยสีสันซึ่งแสดงหมู่คณะและสถาบัน การเดินขบวนพาเหรดในชุดต่างๆ รวมทั้งการเชียร์ด้วยการแปรอักษรบนอัฒจันทร์ด้วยแสงสีอันสวยงามและอื่นๆ ที่มา: หนังสือสารคดี ทวีปัญญา โดย ประยงค์ อนันทวงศ์ และ http://www.md.chula.ac.th รวบรวมข้อมูลโดย: งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด