เร่งการเผาผลาญด้วยการดื่มน้ำ
All Posts
ในร่างกายของเรามีน้ำเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของร่างกาย แต่ทำไมดื่มน้ำเป็นลิตรจึงไม่อ้วน แถมการดื่มน้ำมากๆ ยังช่วยลดไขมันในร่างกายได้อีกด้วย การดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว ทุกวันเพื่อสุขภาพที่ดีเป็นสิ่งที่เราทราบกันดี แต่ดื่มน้ำยังช่วยในการละลายไขมันอีกด้วย เพราะตามปกติแล้วการดื่มน้ำในปริมาณที่ร่างกายต้องการ จะช่วยให้ตับทำงานได้เต็มที่ ซึ่งหน้าที่หลักของตับนั้นก็จะช่วยเร่งการเผาผลาญไขมันที่สะสมอยู่ตามซอกหลืบของร่างกายให้เปลี่ยนเป็นพลังงานได้ และน้ำก็ยังเป็นตัวการสำคัญที่ช่วยให้การเผาผลาญไขมันดีขึ้น แต่ถ้าร่างกายขาดน้ำก็จะทำให้ตับทำงานไม่เต็มที่ การเผาผลาญไขมันก็ลดลงด้วย การดื่มน้ำน้อยจึงส่งผลให้การเผาผลาญไขมันทำได้น้อย อาหารที่กินเพิ่มเข้าไปจะไปเพิ่มการสะสมไขมันในร่างกายมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการพยายามดื่มน้ำให้มากขึ้นอีกนิด เพื่อช่วยลดการสะสมของไขมันก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจใช่ไหมคะ ที่มา: คอลัมน์ Living Beware นิตยสาร ใกล้หมอ ปีที่ 31 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม 2550 รวบรวมข้อมูลโดย: งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด
6 ข้อดีดื่มน้ำบรรเทาหวัด
All Posts
อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย เดี๋ยวฝนตก เดี๋ยวแดดออก ทำให้หลายคนที่ไม่ค่อยได้ดูแลสุขภาพเป็นพิเศษมักเป็นหวัดได้ง่าย “โรคหวัด” เกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้จะเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง แต่ทำให้ร่างกายรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สบายเนื้อสบายตัว ทำให้มีอาการปวดศรีษะ ตัวร้อน น้ำมูกไหล ไอ จาม มีเสมหะ ถ้าไม่ดูแลรักษาตัวให้ดีอาจก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้ เมื่อเป็นหวัดแนะนำว่าควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 2 ลิตร เพราะน้ำสามารถช่วยเยียวยาร่างกายให้หายจากหวัดได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุที่.. น้ำช่วยละลายเสมหะไม่ให้เหนียว โดยเฉพาะการดื่มน้ำอุ่น ช่วยลดไข้หากไข้ขึ้นสูง น้ำนี่แหล่ะที่จะช่วยทำให้ร่างกายเย็นลงได้ ช่วยให้ร่างกายมีความชุ่มชื้นเพียงพอ ซึ่งส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดี ช่วยให้เยื้อบุจมูกที่บุช่องทางเดินหายใจส่วนบนทำหน้าที่ได้ดีขึ้น จึงช่วยลดอาการคัดจมูก ช่วยป้องกันการติดเชื้อ และอักเสบ ช่วยขจัดสารพิษออกจากร่างกาย ทำให้ร่างกายฟื้นจากอาการไข้ได้เร็วขึ้น นอกจากนั้น หากอยากดื่มเครื่องดื่มที่มีรสชาติมากขึ้น แนะนำให้ลองดื่มน้ำผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น น้ำส้ม น้ำฝรั่ง น้ำกีวี น้ำมะเขือเทศ ฯลฯ เพราะวิตามินซีช่วยให้อาการหวัดหายเร็วขึ้น ส่วนคนที่มีอาการเจ็บคอสามารถบรรเทาอาการโดยใช้เกลือละลายน้ำอุ่นกลั้วคอ 2-3 วันติดต่อกัน อาการจะทุเลาลงโดยไม่ต้องใช้ยาค่ะ ที่มา : บริการชีวจิตโฟน นิตยสาร ชีวจิต ฉบับที่ 191 ปีที่ 8 กันยายน 2549 รวบรวมข้อมูลโดย: งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด
น้ำนั้นสำคัญไฉน
All Posts
เป็นที่ทราบกันดีว่า 60% ของร่างกายมนุษย์มีน้ำเป็นส่วนประกอบ ยิ่งในเด็กแรกเกิด จะมีน้ำภายในร่างกายถึง 75% เลยทีเดียว แล้วน้ำส่วนใหญ่ไหลแทรกซึมไปตามส่วนใดของร่างกาย – น้ำส่วนหนึ่งจะอยู่บริเวณสมอง เพื่อช่วยควบคุมกลไกอุณหภูมิภายในร่างกาย ดังนั้น หากสมองขาดน้ำจะทำให้เป็นตะคริว และรู้สึกเหนื่อยอ่อนได้ – ผิวหนังก็เป็นส่วนหนึ่งของร่างกายที่มีน้ำอยู่เป็นปริมาณมากเช่นกัน โดยเฉพาะผิวหนังชั้นในสุดจะมีน้ำอยู่ถึง 70% ดังนั้น การดื่มน้ำให้เพียงพอจะช่วยให้ผิวหนังมีความชุ่มชื้น อ่อนวัย และไม่แห้งเหี่ยว ยิ่งในช่วงฤดูร้อนยิ่งต้องดื่มน้ำมากๆ เพราะฤดูนี้แสงแดดรุนแรง ร่างกายจึงสูญเสียน้ำมาก ถ้าดื่มน้ำไม่เพียงพอผิวก็จะแห้งมาก – ส่วนกล้ามเนื้อมีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่ถึง 70-75% ดังนั้นเราต้องดื่มน้ำมากๆ กล้ามเนื้อจึงจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด – ไตก็เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งที่ทำหน้าที่สำคัญในการฟอกเลือด และขจัดของเสียออกจากร่างกายในรูปของปัสสาวะ และปัจจัยที่จะช่วยให้ไตทำงานได้ดียิ่งขึ้นก็คือ การดื่มน้ำมากๆ และบ่อยๆ นั่นเอง – น้ำที่อยู่ในลำไส้ทำให้ลำไส้ขยายใหญ่ขึ้น (แต่ไม่ต้องวิตกกังวลไป เพราะน้ำไม่ทำให้ คนเราอ้วนได้เพราะไม่มีแคลอรี) ช่วยป้องกันอาการท้องผูกได้ เห็นมั๊ยคะว่าน้ำมีประโยชน์ต่อร่างกายของเราแค่ไหน ดังนั้น ใครที่ไม่ชอบดื่มน้ำ พยายามเปลี่ยนนิสัย และหันมาดื่มน้ำเป็นประจำจะดีกว่า ที่มา: นิตยสาร Lisa vol.6 no.4 วันที่ 27.1.2005 รวบรวมข้อมูลโดย: งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด
เลิกดื่มน้ำเย็น
All Posts
บางครั้งที่เหน็ดเหนื่อยมีเหงื่อมาก กระหายน้ำ การดื่มน้ำเย็นเข้าไปในทันทีอาจไม่ให้ผลดีต่อร่างกายนัก การดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้วต่อวันจะมีประโยชน์ เพราะน้ำช่วยหล่อลื่นให้ระบบต่างๆ ทำงานได้ดีขึ้น ระบบขับถ่ายดี ผิวพรรณสดใส แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องเป็นน้ำที่สะอาดบริสุทธิ์ ที่อุณหภูมิเดียวกับอุณหภูมิห้อง การดื่มน้ำเย็นเกินไปเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้เส้นเลือดที่อยู่ในระบบทางเดินอาหารหดตัวลง กว่าเซลล์จะปรับตัวและขยายตัวเพื่อดูดซึม ต้องใช้เวลานานพอสมควร ในการปรับอุณหภูมิก่อนดูดซึม จึงมักเกิดอาการจุกหน้าอกเมื่อกระหายน้ำ แล้วดื่มน้ำเย็นจัดเข้าไป ขณะที่น้ำธรรมดาที่อุณหภูมิห้อง (35 องศาเซลเซียส) ร่างกายจะสามารถดูดซึมไปใช้ในระบบหมุนเวียนเลือดได้เลย ที่มา: นิตยสารชีวจิต ปีที่ 2 ฉบับที่ 29 ธ.ค. 2542 รวบรวมข้อมูลโดย: งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด