สื่อกลางระหว่างนักศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหง กับฝ่ายบริหาร คณาจารย์ และข้าราชการ “ข่าวรามคำแหง” เป็นสิ่งพิมพ์เดียวนอกเหนือจากตำราเรียน ที่อยู่เคียงคู่กับมหาวิทยาลัยรามคำแหงมาตั้งแต่ต้น การพบเห็นจนเป็นเรื่องปกติ อาจทำให้ข่าวรามคำแหงถูกมองเหมือนสิ่งพิมพ์อื่นที่ไม่มีอายุเพียงชั่วครั้งชั่วคราว และไม่ได้มีบทบาทมากไปกว่าการเป็น “สื่อ” ระหว่างนักศึกษากับมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่หากพิจารณากันอย่างถี่ถ้วนแล้ว “ข่าวรามคำแหง” มีบทบาทสำคัญหลายๆ ด้าน เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยก่อรูปวัฒนธรรมรามคำแหงหลายประการตั้งแต่เริ่มต้น นอกเหนือจากการทำหน้าที่บันทึกหน้าประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเสมอมา
“ข่าวรามคำแหง” วันนี้อาจมีความจำเป็นน้อยลง และลดความสำคัญในบทบาทตัวเองลงไปบ้าง เปลี่ยนแปลงหน้าที่ไปบ้างเมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป การติดต่อสื่อสารเปลี่ยนรูปแบบไป แต่หน้าที่หนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยคือผู้จดบันทึกแห่งกาลเวลา เหมือนอย่างที่ “ข่าวรามคำแหง” ฉบับแรกๆ บันทึกหน้าประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ไว้ให้เราได้เรียนรู้
ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2514 ซึ่งเป็นปีแรกที่มหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของประเทศ คือมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้เปิดการเรียนการสอน “ข่าวรามคำแหง” ฉบับแรกก็ถือกำเนิดขึ้น ดร.ศักดิ์ ผาสุกนิรันดร์ รักษาการอธิการบดีในสมัยนั้นบอกถึงวัตถุประสงค์ของการเกิดข่าวรามคำแหง ไว้ในหน้าแรกของข่าวรามคำแหงฉบับปฐมฤกษ์ว่า “เนื่องจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงไม่มีการบังคับในเรื่องการเรียนการสอน จึงมีปัญหาสำคัญเกิดขึ้นอย่างหนึ่งว่าทำอย่างไรจึงจะให้นักศึกษาได้ทราบเรื่องต่างๆที่มหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการอยู่ เช่นตำราที่อาจารย์เขียนขึ้นใหม่ๆ กำหนดสถานที่สอบ และข่าวคืบหน้าของมหาวิทยาลัยในเรื่องอื่นๆ เป็นต้น”
“ข่าวรามคำแหง” ฉบับแรก เป็นหนังสือพิมพ์รายปักษ์ มี ดร.สิทธา พินิจภูวคล เป็นบรรณาธิการ และอาจารย์รังสรรค์ แสงสุข (ตำแหน่งในขณะนั้น) เป็นผู้จัดการ จำนวนหน้ามีเพียง 4 หน้า และคงจำนวนหน้าดังกล่าวไว้จนถึงฉบับที่ 6 จึงเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 8 หน้า ก่อนที่จะกลายมาเป็นหนังสือพิมพ์หนา 12 หน้าอย่างในปัจจุบัน บรรณาธิการบอกไว้ในฉบับปฐมฤกษ์ว่า มีเวลาในการทำเพียง 12 วันเท่านั้น แต่หากพิจารณากันโดยละเอียด “ข่าวรามคำแหง” ฉบับปฐมฤกษ์ มีประวัติศาสตร์บันทึกอยู่มากมาย ตัวอักษรเพียงไม่กีมากน้อยที่บรรจุอยู่ในหน้ากระดาษเหล่านั้นบอกให้เราทราบว่า มหาวิทยาลัยเมื่อแรกเริ่มมีอาคารทั้งหมดอยู่เพียง 5 หลังเป็นอาคารเรียน 4 หลัง และเป็นอาคารห้องสมุด 1 หลัง มีหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ติดต่ออยู่เพียง 3 หมายเลข ตำราเรียนที่พิมพ์เป็นเล่มเพื่อจำหน่ายในเทอมแรกของการเรียน มีเพียง 16 รายวิชาเท่านั้นเอง ข้อมูลในหนังสือบอกด้วยว่า นักศึกษาภาคแรกของปีแรกที่มหาวิทยาลัยเปิดดำเนินการนั้นมีเพียง 45,377 คน เท่านั้น
หน้าแรกของหนังสือมีรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายปกติ และเครื่องแต่งกายพิเศษของนักศึกษาเอาไว้ ซึ่งเป็นระเบียบของมหาวิทยาลัยรามคำแหง นอกจากนั้นใครที่สนใจที่มา และความหมายของสัญลักษณ์ต่างๆ แห่งมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นความหมายและที่มาของพระรูปพ่อขุนรามคำแหงประทับนั่งบนแท่นศิลาอาสน์, หลักศิลาจารึก, สีทองและสีน้ำเงินเข้มที่เป็นสีประจำมหาวิทยาลัย หรือแม้แต่ลายตาชะลอมที่เป็นลายประจำเน็คไท ก็อ่านได้จาก “ข่าวรามคำแหง” ฉบับปฐมฤกษ์นี้
ในระยะแรกที่มหาวิทยาลัยจัดทำข่าวรามคำแหง ดร.ศักดิ์ ผาสุกนิรันดร์ อธิการบดีคนแรกยังไม่มีความแน่ใจเลยว่า “ข่าวรามคำแหง” นี้จะมีประโยชน์สำหรับนักศึกษามากน้อยเพียงใด นอกจากว่าจะต้องรอดูกันไปสักระยะหนึ่งก่อนแต่สิ่งที่อดีตอธิการบดีแน่ใจตั้งแต่เริ่มแรกก็คือ“ข่าวรามคำแหง” จะก้าวหน้าควบคู่ไปกับการเติบโตของมหาวิทยาลัย และความเป็นเลิศทางวิชาการของมหาวิทยาลัยตลอดไป ซึ่งก็เป็นจริงเช่นนั้นผู้ที่สนใจอ่านหนังสือพิมพ์ “ข่าวรามคำแหง” ฉบับปฐมฤกษ์ สามารถติดต่อได้ที่ฝ่ายบริการช่วยการค้นคว้าวิจัย และบริการพิเศษ อาคาร 3 ชั้น 2 สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ปี 2565 สามารถติดต่อได้ที่หน่วยจดหมายเหตุดิจิทัล ฝ่ายเทคโนโลยีห้องสมุด อาคาร 1 ชั้น 1 สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง โทร. 0-2310-8661 หรือสามารถอ่านออนไลน์ได้ที่ https://archives.lib.ru.ac.th/s/RU-Archives/item/417)
บรรณานุกรม
ข่าวรามคำแหง . 1,1 (16 พฤษภาคม 2514)
โดย ดวงพร พงศ์พานิชย์
ข่าวรามคำแหง ปีที่ 33 ฉบับที่ 3 วันที่ 12-18 พฤษภาคม 46