สนเทศน่ารู้  :: พระราชลัญจกรประจำรัชกาล..

พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 1-9 | พระราชลัญจกรที่ใช้ในรัชกาลที่ 9

 

          พระราชลัญจกรประจำรัชกาล เป็นตราประจำพระมหากษัตริย์แต่ละรัชกาล ที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างขึ้น เพื่อเริ่มต้นรัชกาลเพื่อประทับกำกับพระปรมาภิไธย ในเอกสารสำคัญต่างๆของชาติ ที่เกี่ยวด้วยการราชการแผ่นดิน เช่น รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา และเอกสารสำคัญส่วนพระองคที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน พระราชลัญจกรเป็นเครื่องมงคลที่แสดงถึงพระราชอิสริยยศ และพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ จากหลักฐานพบว่า มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา อันเป็นหลักฐานถึงความเจริญด้านวัฒนธรรมของชาติที่สืบต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน


พระราชสัญลักษณ์ ประจำพระองค์ รัชกาลที่ 1
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

         เป็นรูปปทุมอุณาโลม มีอักขระ "อุ" อยู่กลางล้อมรอบด้วยด้วยกลีบบัว ซึ่งเป็นพฤกษชาติที่เป็นสิริมงคลในพุทธศาสนา ตราอุณาโลมที่ใช้ตีประทับบนเงินพดด้วงมีรูปร่างคล้ายสังข์เวียนขวา อยู่ในกรอบมีพื้นเป็นลายกนก ผลิตออกใช้คราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2328.


 พระราชสัญลักษณ์ ประจำพระองค์ รัชกาลที่ 2
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

        เป็นรูปครุฑยุดนาค เป็นราชพระราสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า "ฉิม" ตามความหมายของวรรณคดีไทย คือพญาครุฑในเทพนิยาย เทวะกำเนิดเป็นเทพองค์หนึ่งที่ทรงมหิทธานุภาพยิ่งแด่ยอมเป็นเทพ พาหนะสำหรับพระนารายณ์ ปกติอยู่วิมานฉิมพลี ดังนั้นจึงทรงพระกรุณาให้ใช้รูปยุตครุฑนาคเป็นสัญลักษณ์ ประจำพระองค์แทนพระปรมาภิไธย.


 พระราชสัญลักษณ์ ประจำพระองค์ รัชกาลที่ 3
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

          พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นรูปราสาท เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า "ทับ"  หมายความว่า ที่อยู่หรือเรือน ดังนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า  ให้สร้างรูปปราสาท  เป็นพระราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์ แทนพระปรมาภิไธย.


 พระราชลัญจกร ประจำพระองค์ รัชกาลที่ 4
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

          เป็นรุปกลมรี ลายกลางเป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎ พระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า "มงกุฎ"  ซึ่งเป็นศิราภรณ์สำคัญของพระมหากษัตริย์ อยู่ในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ มีฉัตรบริวารตั้งขนาบข้างที่ขอบทั้งสองข้าง มีพานทองสองชั้นวางพระแว่นสุริยกานต์  หรือเพชรข้างหนึ่งวางสมุดตำราข้างหนึ่ง พระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรมาจากฉายา ที่ทรงผนวชว่า "วชิรญาณ" ส่วนสมุดตำรามาจากเหตุที่ได้ทรงศึกษาเชี่ยวชาญในทางอักษรศาสตร์และดาราศาสตร์.


 พระราชลัญจกร ประจำพระองค์ รัชกาลที่ 5
 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

          รียกว่าพระเกี้ยวเป็นรูปพระจุลมงกุฎเปล่งรัศมี (พระเกี้ยว) ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้าเป็นสัญลักษณ์ของ พระบรมนามาภิไธยว่า "จุฬาลงกรณ์"  ซึ่งแปลความหมายว่าศิราภรณ์ชนิดหนึ่งอย่างมงกุฎ มีฉัตรบริวารตั้งขนาบข้าง ที่ริมขอบทั้งสองข้างมีพานแว่นฟ้าวางพระแว่น  สุริยกานต์หรือเพชรข้างหนึ่งวางสมุดตำราข้างหนึ่ง พระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรและสมุดตำรานั้นเป็นการเจริญรอยจำลอง พระราชลัญจกร ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นสมเด็จพระชนกนาถ.


 พระราชลัญจกร ประจำพระองค์ รัชกาลที่ 6
  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

          เรียกว่าพระราชกัญจกรพระวชิระ เป็นรูป วชิราวุธ ยอดมีรัศมีประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า ตั้งอยู่เหนือดั่ง มีฉัตรกลีบบัวตั้งอยู่สองข้าง เป็นสัญลักษณ์ของ พระบรมนามาภิไธยว่า "วชิราวุธ" ซึ่งหมายถึงศาสตราวุธของพระอินทร์.
 


 พระราชลัญจกร ประจำพระองค์ รัชกาลที่ 7
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 

          เรียกว่า พระราชลัญจกร พระแสงศร เป็นรูปพระแสงศร 3 พระองค์  คือพระแสงศร พรหมาสตร์ พระแสงศรประลัยวาด และพระแสงศรอัคนีวาด เหนือราวพาดพระแสงเป็นตรามหาจักรีบรมราชวงศ์ ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ เบื้องซ้ายและเบื้องขวาของราวพาดพระแสง ตั้งบังแทรกสอดแทรกด้วย ลายกนกอยู่บนพื้นตอนบนของ ดวงตราพระแสงศร 3 องค์นี้ เป็นสัญลักษณ์ของ พระบรมนามาภิไธยว่า "ประชาธิปกศักดิเดชน์" ซึ่งมาจากความหมายของศัพท์คำสุดท้ายของวรรคที่ว่า เดชน์ แปลว่า ลูกศร.


 พระราชลัญจกร ประจำพระองค์ รัชกาลที่ 8
 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล  

       เป็นรูปพระโพธิสัตว์ประทับบนบัลลังก์ดอกบัว ห้อยพระบาทขวาเหนือบัวบาน หมายถึงแผ่นดิน พระหัตซ้ายถือดอกบัวตูมและมีเรือนแก้วด้านหลังแทนรัศมี  มีแท่นรองรับตั้งฉัตรบริวาร 2 ข้างเป็น พระราชสัญลักษณ์ของ พระบรมนามาภิไธยว่า "อานันทมหิดล"  ซึ่งแปลความหมายว่า เป็นที่ยินดีของแผ่นดิน  เพราะองค์ได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย โดยความยกย่องยินดีของอเนกนิกรชาวไทย ประหนึ่งพระโพธิสัตว์เสด็จมาประทาน  ความร่มเย็นเป็นสุขแก่ทวยราษฎร์ทั้งมวล.


พระราชลัญจกร ประจำพระองค์ รัชกาลที่ 9
 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

          เป็นรูปพระที่นั่งอัฐทิศ ประกอบด้วยวงจักร กลางจักรมีอักขระเป็น อุ หรือ เลข 9 รอบวงจักรมีรัศมีเปล่งโดยรอบ เหนือจักรเป็นรูปเศวตฉัตรเจ็ดชั้น ฉัตรตั้งอยู่บนพระที่นั่ง อัฐทิศ แปลความหมายว่า ทรงมีพระบรมเดชานุภาพในแผ่นดิน โดยมีวันพระบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี ได้เสด็จประทับเหนือพระที่นั่ง อัฐทิศ สมาชิกรัฐสภาถวายน้ำอภิเษกจากทิศทั้งแปด นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ทรงรับน้ำอภิเษกจากสมาชิกรัฐสภาแทนที่จะทรงรับจากราชบัณฑิต ดั่งในรัชกาลก่อน.

พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 1-9 | พระราชลัญจกรที่ใช้ในรัชกาลที่ 9


 

บรรณานุกรม
ข้อความคัดลอกจาก : ปฏิทินสวัสดีปีใหม่ 2541,พระราชลัญจกร ประจำรัชกาล,บริษัท แสงโสมจำกัด,กลุ่มบริษัทสุราทิพย์,สุรามหาราชจำกัด(มหาชน) ,บริษัทเบียร์ไทย(1991)จำกัด,บริษัทคาร์ลสเบอร์กบริวเวอร์(ประเทศไทย)จำกัด.
ภาพประกอบแสกนและดัดแปลงจาก : ปฏิทินสวัสดีปีใหม่ 2541,พระราชลัญจกร ประจำรัชกาล,บริษัท แสงโสมจำกัด,กลุ่มบริษัทสุราทิพย์,สุรามหาราชจำกัด(มหาชน) ,บริษัทเบียร์ไทย(1991)จำกัด,บริษัทคาร์ลสเบอร์กบริวเวอร์(ประเทศไทย)จำกัด.
รวบรวมข้อมูลโดย : นางนิตยาพร นิ่มนวล ฝ่ายวิเคราะห์ทรัพยากรห้องสมุดและทำบัตรรายการ

  สนเทศน่ารู้  ขึ้นด้านบน 



ปรับปรุงล่าสุด : 28 พฤษภาคม 2550 09:52:17 น.