สนเทศน่ารู้ : วันปรีดี 11 พฤษภาคม


ภาพจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประวัติ

           นายปรีดี พนมยงค์เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2443 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของนายเสียง กับ นางลูกจันทร์ พนมยงค์ ในปี พ.ศ.2460 ได้ศึกษาต่อที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม จนกระทั่งศึกษาจบวิชากฎหมายชั้นเนติบัณฑิตเมื่ออายุ 19 ปี หลังจากนั้นในปีเดียวกันได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงยุติธรรมไปศึกษาวิชากฎหมาย ณ ประเทศฝรั่งเศส จนจบปริญญารัฐ (Doctorat d'etat) เป็นดุษฎีบัณฑิตกฎหมายฝ่ายนิติศาสตร์ ซึ่งนับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ปริญญาแห่งรัฐ "ดุษฎีบัณฑิตกฎหมาย" (Docteur en droit)

           นายปรีดีได้เข้ารับราชการในกระทรวงยุติธรรมเมื่อ พ.ศ.2470 ในตำแหน่งผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรม ขณะเดียวกันก็เป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายที่โรงเรียนกฎหมายด้วย นายปรีดีได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็นหลวงประดิษฐ์มนูธรรม จากนั้นนายปรีดีได้สมรสกับนางสาวพูนศุข ณ ป้อมเพชร์ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2471 มีบุตรธิดารวม 6 คน

           เมื่อคณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 นายปรีดีเป็นผู้นำฝ่ายพลเรือน โดยเป็นผู้ร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองสยามชั่วคราว พ.ศ.2475 นายปรีดีได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญๆ หลายตำแหน่ง อาทิ เลขาธิการคนแรกของสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

           นายปรีดีมีผลงานอันเป็นคุณูปการใหญ่หลวงต่อชาติบ้านเมือง อาทิ ได้เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรกของชาติ ได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ได้เสนอพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.2476 ได้เจรจาแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคที่มหาประเทศทำไว้กับประเทศไทยจนสำเร็จ ทำให้ประเทศไทยมีเอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ ทั้งในด้านการเมือง และเศรษฐกิจ ได้ดำเนินการปฏิรูประบบภาษีที่ไม่เป็นธรรม ได้จัดทำประมวลรัษฎากรขึ้นเป็นฉบับแรกของประเทศ ได้ก่อตั้งธนาคารกลางแห่งชาติขึ้น ต่อมาก็คือธนาคารแห่งประเทศไทย ฯลฯ

           ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 สภาผู้แทนราษฎรลงมติแต่งตั้งให้นายปรีดีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายปรีดีได้จัดตั้งขบวนการเสรีไทยเพื่อต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น และกอบกู้เอกราชของชาติให้กลับคืนมา เมื่อพ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายปรีดีเป็น "รัฐบุรุษอาวุโส" คนแรก

           นายปรีดีได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งแรกระหว่างวันที่ 24 มีนาคม - 3 มิถุนายน พ.ศ.2489 ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 8 มิถุนายน - 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 และครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 10 มิถุนายน - 20 สิงหาคม พ.ศ.2489 ต่อมามีคณะรัฐประหารได้ทำการยึดอำนาจรัฐ ใช้รถถังบุกทำเนียบท่าช้างอันเป็นที่พำนักของนายปรีดี นายปรีดีจึงต้องลี้ภัยไปสิงคโปร์ ต่อมาในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 นายปรีดีได้นำกำลังทหารเรือส่วนหนึ่งกับชาวไทยที่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย ต่อต้านการยึดอำนาจของคณะรัฐประหาร แต่ไม่ประสบความสำเร็จ นายปรีดีจึงต้องลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศ

           ระหว่าง พ.ศ.2492 - 2513 นายปรีดีได้พำนักในสาธารณรัฐประชาชนจีน จากนั้นย้ายไปพำนักในประเทศฝรั่งเศส ตราบจนสิ้นอายุขัย เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2526 สิริรวมอายุได้ 82 ปี 11 เดือน 22 วัน ด้วยผลงานและเกียรติคุณความดีของนายปรีดี พนมยงค์ จึงมีการจัดงานฉลองครบรอบ 100 ปี ชาตกาลให้แก่นายปรีดี พนมยงค์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป ทั้งนี้องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้เสนอชื่อ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ บรรจุในปฏิทินบุคคลสำคัญของโลกในปี ค.ศ.2000-2001

บรรณานุกรม

สุพจน์ ด่านตระกูล. รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ, ๒๕๔๓.
ข้อมูลจาก: สำนักนายกรัฐมนตรี

ภาพประกอบ จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2549.

ข้อมูลโดย : กลุ่มนักศึกษาฝึกงาน งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด

สนเทศน่ารู้  ขึ้นด้านบน 




ปรับปรุงล่าสุด : 04 พฤษภาคม 2553 13:22:40 น.