สนเทศน่ารู้ :: แมงกะพรุน (Jelly fish)


แมงกะพรุน (Jelly fish)
แมงกะพรุน คืออะไร? มันมีพิษอย่างไร?

               แมงกะพรุน ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542  คือ ชื่อสัตว์น้ำไม่มีกระดูกสันหลัง ใสคล้ายวุ้น ด้านบนเป็นวงโค้งคล้ายร่ม ด้านล่างตอนกลางเป็นอวัยวะทำหน้าที่กินและย่อยอาหาร มีหลายชนิด เช่น แมงกะพรุนจาน หรือ แมงกะพรุนหนัง ซึ่งกินได้ ส่วนแมงกะพรุนถ้วย แมงกะพรุนไฟ และแมงกะพรุนลาย มีพิษ

               แมงกะพรุน (Jelly fish) และแมงกะพรุนไฟ (Portuguese man-of-war) อยู่ในไฟลัม Colenterata  โดยทั่วไปมีรูปร่างคล้ายร่มหรือกระดิ่งคว่ำ (medusa) ลำตัวโปร่งแสง ประกอบด้วยวุ้นเป็นส่วนใหญ่และจะมีเข็มพิษ (nematocyst) อ่านว่านีมาโตซิส อยู่ทั่วๆ ตัว โดยเฉพาะบริเวณหนวด และรอบๆ ปากซึ่งใช้ในการฆ่าเหยื่อ
               ในไฟลัมนี้ก็จะแบ่งเป็น  2 class คือ
               1. Scyphozoa (JellyFish) คือ แมงกะพรุนทั่วๆ ไป ที่เรามักเห็นเกยตื้นตามชายหาด ตัวใสๆ หรือบางทีเราก็เห็นอยู่ในชามเย็นตาโฟหรือ หม้อสุกี้ ก็เป็นประเภทเดียวกัน



แมงกะพรุน (Jelly Fish) บางชนิด

ภาพจาก "Jelly Fish Lake" :
 
http://www.siamscubadiving.com/board/view.php?tid=1921&PHPSESSID=0613f30111d960f86e16c581e6c8feb6

               2. Hydrozoa (Portuguese man-of-war) คือ แมงกะพรุนไฟ ซึ่งจะมีลักษณะที่ แตกต่างจาก แมงกะพรุนธรรมดาๆ อย่างเห็นได้ชัด สามารถสังเกตได้จากสีสันที่ค่อนข้างสด และหนวดที่เป็นสายยาว อาหารของพวกเขาคือ แพลงตอน ปลา กุ้ง หอย
 



แมงกะพรุนไฟ (Portuguese man-of-war)
ภาพจาก "เรื่องของแมงกะพรุนไฟ" :
http://www.siamfishing.com/board/view.php?tid=18870




แมงกะพรุนไฟ (Portuguese man-of-war)
ภาพจาก "เรื่องของแมงกะพรุนไฟ" :
http://www.siamfishing.com/board/view.php?tid=18870

               พิษของแมงกะพรุนไฟมาจากไหน?
               พิษของแมงกะพรุนมาจากเข็มพิษ หรือ nematocyst  ภายในนีมาโตซีสมีน้ำพิษที่เป็นอันตราย ปกติแมงกะพรุน เขาใช้ในการล่าเหยื่อ  ทำให้เหยื่อสลบไปก่อนที่จะรับประทาน เมื่อไหร่ที่เราบังเอิญไปโดนพิษแมงกะพรุนไฟ หรือ บางทีเป็นเพียง หนวดหรือเข็มพิษของเขาลอยตามน้ำมา เท่านั้น เข็มพิษ จะทำให้เรา ปวดแสบ ปวดร้อน ทันที แม้อยู่ในน้ำ เกิดอาการคัน เป็นผื่น บวมแดง เป็นรอยไหม้ บางรายทำให้เกิดอาการจุกแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย เป็นไข้ และแมงกะพรุนไฟบางประเภทมีอันตรายที่  ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ (ยังไม่พบแมงกะพรุนชนิดนี้ในประเทศไทย) แผลที่เกิดขึ้นจากแมงกะพรุนไฟนี้ มักจะเป็นรอยไหม้ และเป็นแผลเรื้อรัง จนอาจจะเป็นแผลเป็นได้

               การไปเที่ยวทะเลในฤดูฝน สิ่งหนึ่งที่เราพึงระวัง คือ แมงกะพรุน ซึ่งเป็นสัตว์มีพิษในทะเลชนิดหนึ่งที่ไม่มีกระดูกสันหลัง ส่วนใหญ่จะอยู่ในทะเล แต่ก็มีบางชนิดที่อยู่ในน้ำจืด แมงกะพรุนเป็นสัตว์ในพวกเดียวกับปะการัง มีเซลล์ที่ใช้ต่อยและมีพิษมากกว่าปะการังมาก แมงกะพรุนบางชนิดอาจทำให้ผู้ถูกต่อยถึงช็อคเสียชีวิตได้ แม้จะพบแมงกะพรุนตายติดตามชายหาดก็ไม่สมควรจะนำมาเล่น  เพราะพิษยังอาจจะมีอยู่และทำให้เกิดอันตรายได้ เมื่อถูกแมงกะพรุนอาจจะมีสายหนวดของแมงกะพรุนติดอยู่ต้องรีบแกะออกโดยเร็ว แต่อย่าใช้มือเปล่าเพราะมือจะถูกต่อยได้ด้วย ให้ใช้ผ้าหนาๆ เศษไม้ ทรายแห้งๆ หรือแป้งผงถูเบาๆ ให้หลุดออก อย่าถูแรงเพราะถุงบางอันยังไม่คายพิษ  ถ้าถูแรงจะทำให้พิษถูกปล่อยออกมาเพิ่มขึ้น แล้วล้างบริเวณนั้นเบาๆ ด้วยน้ำทะเล น้ำมันแอลกอฮอล์ แอมโมเนีย หรือโลชั่นที่หาได้ใกล้ตัว ชาวบ้านใช้ผักบุ้งทะเล เพื่อทำให้สภาพพิษซึ่งส่วนใหญ่เป็นโปรตีนเสื่อมลง เมื่อถูกพิษแมงกะพรุนแล้วให้ขึ้นจากน้ำทันที เพราะถ้าเกิดอาการรุนแรงจะทำให้จมน้ำตายได้
(
"แมงกะพรุน" สืบค้น 26 ก.ค.2551: http://www.school.net.th/library/create-web/10000/science/10000-3736.html)

              จากประสบการณ์ครั้งหนึ่งที่โดนพิษแมงกะพรุนชนิดไม่รุนแรง จากการเล่นน้ำทะเลในฤดูฝน สัมผัสพิษวินาทีแรกจะ รู้สึกปวดแสบ ปวดร้อนมาก  หลังจากขึ้นน้ำทะเลจะมีอาการผื่นแดง บริเวณผิวหนังที่โดนพิษอย่างชัดเจน  โดยส่วนมากแล้วโรงแรมที่พัก จะมีพนักงานคอยดูแลและปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวที่มาพักในโรงแรมนั้นๆ  และถ้านักท่องเที่ยวโดนพิษแมงกระพรุน  เจ้าหน้าที่จะทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและให้คำแนะนำในการดูแลตามอาการ ดังนี้

              1.  ล้างพิษตรงผิวหนังที่โดนพิษด้วยน้ำทะเลโดยด่วน (หลีกเลี่ยงการใช้น้ำจืด เพราะน้ำจืดจะไปช่วยกระตุ้นพิษให้กระจายมากขึ้น)  รีดเซลล์ของแมงกระพรุน ด้วยของมีคมบางๆ เท่าที่หาได้ เช่น นักท่องเที่ยวอาจจะมีบัตรเครดิต ให้ใช้คมของบัตรนั้นรีดพิษออก ซึ่งสมัยก่อนชาวบ้านใช้ทรายขาวๆ สะอาดถูกเบาๆ แต่สมัยนี้จะหาทรายขาว สะอาดๆ หายาก

              2. ใช้ผักบุ้งทะเลขยี้กับน้ำส้มสายชูความเข้มข้น 5% แล้วประคบผิวหนังบริเวณที่โดนพิษ ห่อด้วยผ้าขาวบางทิ้งไว้ ประมาณ 30-60นาที ขึ้นอยู่กับว่าอาการปวดแสบปวดร้อนจะค่อยๆ หายไปหรือไม่ ถ้าโดนพิษแมงกะพรุนที่ไม่รุนแรงมาก อาการปวดแสบปวดร้อนก็จะลดลง เหลือแค่อาการคันๆ  และร่องรอยของจุดที่โดนเซลล์ของแมงกะพรุนต่อย

              3.  ผู้ที่โดนพิษแมงกะพรุนอาจจะมีอาการแพ้พิษทำให้เป็นไข้ หรืออาเจียน หรือเกิดอาการอื่นๆ ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแต่ละคน เช่น ผู้ที่โดนพิษแมงกะพรุนที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ เขาจะมีอาการที่เป็นผื่นรุนแรง และปวดแสบปวดร้อนมากกว่าคนไทย ซึ่งปกติแล้วผู้ป่วยที่โดนพิษแมงกะพรุนชนิดที่ไม่รุนแรง  ก็จะหายจากอาการปวดแสบปวดร้อนและผื่นแดง หลังจากล้างพิษด้วยผักบุ้งทะเลขยี้กับน้ำส้มสายชูประมาณ 30-60นาที หลังจากนั้นจะมีอาการแพ้พิษอื่นๆ ให้รักษาตามอาการและจะหายภายใน 2-3 วัน แต่ยังคงเหลือร่องรอยของการโดนพิษซึ่งจะปรากฎให้เห็นอยู่เป็นเดือน  ถ้าเจอกับแมงกระพรุนไฟ หรือแมงกระพรุนชนิดร้ายแรง ก็จะกลายไปเป็นแผลเป็นไปในที่สุด

              4.  สำหรับผู้ป่วยที่โดนพิษแมงกะพรุนไฟ (Portuguese man-of-war) ซึ่งจะมีความรุนแรงมากโดนพิษครั้งแรกจะปวดแสบปวดร้อน และผิวหนังที่โดนจะเป็นรอยไหม้ และเป็นแผลเรื้อรัง จนอาจจะเป็นแผลเป็นได้  ต้องนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน

ภาพประกอบ
ภาพถ่ายหลังจากโดนพิษแมงกะพรุน (3 ก.ค. 2551)
ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ โรงแรมโนโวเทล ริมเพ จ.ระยอง ที่ดูแลเป็นอย่างดี เอื้อเฟื้อข้อมูลและคำแนะนำในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ดังกล่าว



ผู้ที่โดนพิษแมงกะพรุน เมื่อรู้สึกตัวว่าโดนพิษแมงกะพรุนควรจะขึ้นจากน้ำทะเลโดยเร็ว
จะเกิดรอยผื่น บวมแดง และเกิดอาการปวดแสบปวดร้อนดังภาพ



นำใบผักบุ้งทะเลที่เกิดใกล้ริมหาดทรายมาขยี้กับน้ำส้มสายชู 5%



การปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยนำใบผักบุ้งทะเลขยี้กับน้ำส้มสายชูแล้วมาประคบผิวหนังบริเวณโดนพิษไว้
และห่อด้วยผ้าขาวบาง ทิ้งไว้ประมาณ 30-60 นาที  ขึ้นอยู่กับอาการปวดแสบปวดร้อนจะบรรเทาลง
ทิ้งไว้รอให้อาการปวดแสบปวดร้อนคลายลงและดูอาการแพ้พิษอื่นๆ และรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น


             จากประสบการณ์ดังกล่าว อาจจะเป็นอุทาหรณ์ช่วยเตือนภัย สำหรับคนที่ชอบเที่ยวทะเลในฤดูฝน หรือต้องการที่จะไปเที่ยวทะเลในช่วงฤดูนี้  ขอให้สังเกตุและระวังอันตรายจากการเล่นน้ำทะเลหลังฝนตกใหม่ๆ  โดยส่วนมากแล้ว ที่พักเขาจะมีป้ายเตือนระวังอันตรายจากภัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยจากธรรมชาติ คลื่นทะเลแรง หรือสัตว์ทะเลที่มีพิษ ฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงขยายพันธุ์ของแมงกะพรุน เขาจะลอยตัวมากับคลื่นทะเลกระทบฝั่งจะมีมากตามชายฝั่งทะเล และโดยธรรมชาติแล้วชายฝั่งทะเลไหน มีแมงกะพรุนมาก ธรรมชาติก็จะให้ผักบุ้งทะเลเกิดบริเวณใกล้ๆ ริมหาดทรายเหล่านั้นด้วย  ซึ่งเป็นคำบอกเล่าของชาวบ้านคนที่อาศัยอยู่ใกล้กับทะเลนั้น ได้ถ่ายทอดความรู้นี้ และถ้าคุณบังเอิญโชคร้ายโดนพิษแมงกะพรุนขึ้นมา ขอให้รู้จักการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก่อนที่จะเกิดอาการที่ร้ายแรงยากที่จะเยียวยารักษา



ป้ายเตือนภัยต่างๆ ริมหาดทราย ที่นักท่องเที่ยวชอบเล่นน้ำทะเล
ภาพ "ป้ายเตือนภัย" จาก ริมหาดทราย โรงแรมโนโวเทล ริมเพ จ.ระยอง

              สถานภาพของแมงกะพรุนปัจจุบันเป็นที่น่าสนใจมาก แมงกะพรุนบางชนิดสามารถนำมาใช้เป็นอาหารได้ และการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมโลก เกิดภาวะโลกร้อน น้ำทะเลร้อนขึ้นฆ่าแหล่งอาหารของปลาอันได้แก่ Phytoplankton ชนิดต่างๆ (นอกจากเป็นอาหารแล้ว ยังแปลงคาร์บอนไดออกไซด์เป็นออกซิเจนแบบเดียวกับพืชด้วย) ส่วนปลาบางพันธุ์ เช่น eelpouts และ cod  นั้นก็อาจไม่สามารถทนต่อปริมาณออกซิเจนที่ลดลงได้ จนเป็นสาเหตุให้ปริมาณของปลาเหล่านี้ลดลง ผกผันกับอุณหภูมิที่สูงขึ้น แต่แมงกะพรุน (jellyfish)จะทนได้ สถานการณ์นี้จึงเป็นข่าวร้ายสำหรับปลาหลายๆ ชนิด เช่น cod,salmon และอื่นๆ  เพราะนอกจากแมงกะพรุนจะแย่งอาหารปลาแล้ว ยังกินปลาเป็นอาหารด้วย ดั้งนั้นในอนาคต จ้าวทะเล น่าจะเป็นแมงกะพรุน
              สำหรับมนุษย์เราควรต้องมีการปรับตัว หันมาบริโภคแมงกะพรุนเป็นอาหาร ก่อนที่แหล่งอาหารสำคัญของเราจะลดน้อยถดถอยตามไปด้วย
 ("Global Warming Sunday, แมงกะพรุนจะครองทะเล" สืบค้น 26 ก.ค. 2551 : http://www.rangwan.com/category/global-warming/)

              ชาวจีนได้มีการนำแมงกะพรุนมาเป็นอาหารนับ 1,000 กว่าปีแล้ว ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นได้เป็นผู้นำในการแปรรูปอาหารจากแมงกะพรุนหลายสายพันธุ์  และประเทศทางตะวันตกได้มีการศึกษาและสนใจจะนำมาเป็นอาหารใหม่ของเขา ข้อดีของแมงกะพรุน คือ มีโปรตีนสูงและแคลอรี่ต่ำ เป็นโปรตีนประเภทคอลลาเจนสามารถรับประทานได้  ซึ่งจากการศึกษาส่วนหนึ่งของนักวิจัยจาก Harvard Medical School พบว่าคอลลาเจนจากแมงกะพรุนอาจจะมีส่วนรักษาโรค Arthritis(ข้ออักเสบ)  และ Bronchitis(หลอดลมอักเสบ) ตลอดจนทำให้ผิวหนังนุ่มนวลด้วย
("แมงกะพรุน: อาหารใหม่สำหรับประเทศตะวันตก" สืบค้น 30 ก.ค. 2551: http://library.uru.ac.th/webdb/images/charpa_jellyfish.html)

บรรณานุกรม
"Global Warming Sunday, แมงกะพรุนจะครองทะเล" สืบค้น 26 ก.ค. 2551: http://www.rangwan.com/category/global-warmingg
"แมงกะพรุน: อาหารใหม่สำหรับประเทศตะวันตก" สืบค้น 30 ก.ค. 2551: http://library.uru.ac.th/webdb/images/charpa_jellyfish.html
"แมงกะพรุน" สืบค้น 26 ก.ค. 2551: http://www.school.net.th/library/create-web/10000/science/10000-3736.html
"เรื่องของแมงกะพรุนไฟ กับนักดำน้ำ" สืบค้น 30 ก.ค. 2551 : http://www.siamscubadiving.com/content/view.php?id=7&cat=article

ภาพประกอบ
" Jellyfish Lake"  สืบค้น 30 ก.ค. 2551 :http://www.siamscubadiving.com/board/view.php?tid=1921&PHPSESSID=0613f30111d960f86e16c581e6c8feb6
"เรื่องของแมงกะพรุนไฟ" สืบค้น 30 ก.ค.2551 :http://www.siamfishing.com/board/view.php?tid=18870
"แมงกะพรุนไฟ" สืบค้น 30 ก.ค. 2551 :http://mithrandia.exteen.com/20070505/part2
"แมงกะพรุนไฟ" สืบค้น 30 ก.ค. 2551 :http://summersalt.exteen.com/20080428/entry
ภาพการปฐมพยาบาลเบื้องต้นแก่นักท่องเที่ยว ของเจ้าหน้าที่ โรงแรมโนโวเทล ริมเพ จ.ระยอง

รวบรวมข้อมูลและแต่งภาพประกอบโดย  : งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด

  สนเทศน่ารู้  ขึ้นด้านบน 



ปรับปรุงล่าสุด : 01 เมษายน 2554 16:21:51 น.