ร้อยเรื่องเครื่องดื่มสมุนไพร

สมุนไพรคืออะไร

          คำว่า สมุนไพร ตามพระราชบัญญัติหมายความถึง ยาที่ได้จากพืช สัตว์ และแร่ ซึ่งยังมิได้มีการผสมปรุงหรือแปรสภาพ (ยกเว้นการทำให้แห้ง) เช่น พืชก็ยังคงเป็นส่วนของราก ลำต้น ใบ ดอก ผล ฯลฯ ยังไม่ได้ผ่านขั้นตอนการแปรรูปใดๆ เช่น การหั่น การบด การกลั่น การสกัดแยก รวมทั้งการผสมกับสารอื่นๆ แต่ในทางการค้า สมุนไพรมักจะถูกดัดแปลงในรูปแบบต่างๆ เช่น ถูกหั่นเป็นชิ้นเล็กลง บดให้เป็นผง อัดให้เป็นแท่ง หรือปอกเปลือกออก เป็นต้น เมื่อพูดถึงสมุนไพร คนทั่วๆ ไปมักจะนึกถึงเฉพาะพืชที่นำมาใช้ประโยชน์ในทางยา ทั้งนี้เพราะ สัตว์ และแร่มีการใช้น้อย จะใช้เฉพาะในโรคบางชนิดเท่านั้น

ประวัติของการใช้สมุนไพร

          สมุนไพร คือ ของขวัญที่ธรรมชาติมอบให้กับมวลมนุษยชาติ มนุษย์เรารู้จักใช้สมุนไพรในด้านการบำบัดรักษาโรค นับแต่ยุคนีแอนเดอร์ทัลในประเทศอิรัก  
          ปัจจุบันที่หลุมฝังศพพบว่ามีการใช้สมุนไพร
          หลายพันปีมาแล้วที่ชาวอินเดียแดงในเม็กซิโก ใช้ต้นตะบองเพชร(Peyate) เป็นยาฆ่าเชื้อและรักษาบาดแผล ปัจจุบันพบว่า ตะบองเพชรมีฤทธิ์กล่อมประสาท 
          ประมาณ 4,000 ปีมาแล้ว ที่ชาวสุเมเรียนได้เข้ามาตั้งรกราก ณ บริเวณแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติสปัจจุบัน คือ ประเทศอิรัก ใช้สมุนไพร เช่น ฝิ่น ชะเอม ไทม์ และมัสตาร์ด และต่อมาชาวบาบิโลเนียน ใช้สมุนไพรเพิ่มเติมจากชาวสุเมเรียน ได้แก่ใบมะขามแขก หญ้าฝรั่น ลูกผักชี อบเชย และกระเทียม
          ในยุคต่อมาอียิปต์โบราณมี อิมโฮเทป แพทย์ผู้มีชื่อเสียงซึ่งต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็นเทพเจ้าแห่งการรักษาโรคของอียิปต์ มีตำราสมุนไพรที่เก่าแก่ คือ Papytus Ebers ซึ่งเขียนเมื่อ 1,600 ปี ก่อนคริสตศักราช ซึ่งค้นพบโดยนักอียิปต์วิทยาชาวเยอรมันนี ชื่อ Georg Ebers ในตำรานี้ได้กล่าวถึงตำราสมุนไพรมากกว่า 800 ตำรับ และสมุนไพรมากกว่า 700 ชนิด เช่น ว่านหางจระเข้ เวอร์มวูด(warmwood) เปปเปอร์มินต์ เฮนเบน(henbane) มดยอบ, hemp dagbane ละหุ่ง mandrake เป็นต้น รูปแบบในการเตรียมยาในสมัยนั้น ได้แก่ การต้ม การชง ทำเป็นผง กลั่นเป็นเม็ด ทำเป็นยาพอก เป็นขี้ผึ้ง 
          นอกจากนี้ยังพบว่าชาติต่างๆ ในแถบยุโรปและแอฟริกา มีหลักฐานการใช้สมุนไพร ตามลำดับก่อนหลังของการเริ่มใช้สมุนไพร คือ หลังจากสมุนไพรได้เจริญรุ่งเรืองในอียิปต์แล้ว ก็ได้มีการสืบทอดกันมา เช่น กรีก โรมัน อาหรับ อิรัก เยอรมัน โปรตุเกส สวีเดน และโปแลนด์
          ส่วนในแถบเอเซีย ตามบันทึกประวัติศาสตร์พบว่ามีการใช้สมุนไพรที่อินเดียก่อน แล้วสืบทอดมาที่จีน มะละกา และประเทศไทย

ประวัติการใช้สมุนไพรในประเทศไทย

          ประเทศไทยมีภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเจริญงอกงามของพืชนานาชนิด โดยเฉพาะพืชสมุนไพรมีอยู่มากมายเป็นแสนๆ ชนิด ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและจากการเพาะปลูก บางชนิดก็ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยาแผนปัจจุบัน สมุนไพรหลายชนิด ถูกนำมาใช้ในรูปของยากลางบ้าน ยาแผนโบราณ รากฐานของวิชาสมุนไพรไทยได้รับอิทธิพลจากประเทศอินเดียเป็นส่วนใหญ่ เพราะตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชาติไทยได้อพยพถิ่นฐานมาจากบริเวณเทือกเขาอัลไตน์ประเทศจีน มาจนถึงประเทศไทยในปัจจุบัน จึงมีส่วนได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา ตลอดจนการบำบัดรักษาโรคจากประเทศอินเดียเป็นจำนวนมาก ซึ่งปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าได้อาศัยคัมภีร์อายุรเวทของอินเดียเป็นบรรทัดฐาน คือ การวินิจฉัยโรค  ชื่อสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคมีเค้าชื่อของภาษาบาลีสันสกฤตอยู่ไม่น้อย เช่นคำว่า มะลิ (ภาษาสันสกฤตว่า มัลลิ) เป็นต้น

          มีผู้ประมาณว่าในแต่ละปีมีผู้ใช้สมุนไพรในประเทศเป็นมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท (สมุนไพรเหล่านี้ได้มาจากทั้งในประเทศ และนำเข้าจากนอกประเทศโดยเฉพาะ จีน เกาหลี และอินเดีย) ทั้งนี้เนื่องจากป่าไม้ถูกทำลาย ทำให้ต้องมีการรณรงค์ให้มีการปลูกเป็นสวนสมุนไพรขึ้น ในปีพุทธศักราช 1800 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งนับเป็นยุคทองของสมุนไพรไทย สวนป่าสมุนไพรของพระองค์ใหญ่โตมากอยู่บนยอดเขาคีรีมาศ อ.คีรีมาส จ.สุโขทัย มีเนื้อที่หลายร้อยไร่ ซึ่งปัจจุบันยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้ เป็นป่าสงวนเพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าของผู้ที่สนใจ
ต่อมาในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเห็นว่าสมุนไพรเป็นทั้งยาและอาหาร
ประจำครอบครัว ชาติจะเจริญมั่นคงได้ก็ด้วยครอบครัวเล็กๆ ที่มีความมั่นคงแข็งแรง มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ทั้งทางกายและจิตใจ จึงทรงมีพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินโครงการตามพระราชดำริ สวนสมุนไพรขึ้นในประเทศในปีพุทธศักราช 2522 โดยทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการรวบรวมศึกษาค้นคว้า ในเรื่องเกี่ยวกับสมุนไพรทุกด้าน เช่น ด้านวิชาการทางชีววิทยา ทางการแพทย์ การบำบัด การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะพืชที่เป็นประโยชน์ก่อให้เกิดโครงการพระราชดำริ สวนป่าสมุนไพรขึ้นมากมายหลายแหล่ง อีกทั้งยังมีการศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวางโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อหาสาระสำคัญของสมุนไพรที่มีพิษ ทางเภสัชมาสกัดเป็นยาแทนยาสังเคราะห์ที่ใช้กันในปัจจุบัน
คนไทยไม่เพียงแต่ใช้พืชสมุนไพรเป็นยารักษาโรคเท่านั้น แต่ได้นำมาดัดแปลงเพื่อบริโภคในรูปของอาหาร
และเครื่องดื่มสมุนไพร ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะ "สมุนไพรที่นำมาใช้เป็นเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ"



เครื่องดื่มสมุนไพรไทย

          ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยนั้นมีรากฐานมานานนับร้อยนับพันปี อารยธรรมต่างๆ ที่ถือเป็นเอกลักษณ์ในการแสดงถึงชาติ แสดงถึงเผ่าพันธุ์ และความเป็นผู้ที่เจริญแล้ว สิ่งหนึ่งที่แสดงออกมาได้เป็นอย่างดีก็คือ ศิลปะที่ผสมผสานและผูกพันอยู่ในการใช้ชีวิตประจำวันของคนไทยนั่นเอง ศิลปะดังกล่าวนี้รวมไปถึงเรื่องการกินอยู่ด้วยอาทิ เช่น การจัดตั้งสำรับ และการประกอบจัดอาหาร ก็ไม่เพียงเพื่อความอร่อยลิ้นอย่างวิเศษเพียงประการเดียว  ยังมีความสวยงามในการจัดแต่งเป็นองค์ประกอบของอาหารให้งามตายิ่งขึ้นไปอีก  จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่เครื่องดื่มของไทยนั้นจะแฝงไว้ด้วยเจตนารมณ์ให้ผู้ดื่มได้ซึมซับทั้งรสชาติและคุณประโยชน์ไปพร้อมๆ  กันอย่างชาญฉลาด

          หากจะสืบสาวถึงความเป็นมาของเครื่องดื่มสมุนไพรก็มีมาตั้งแต่ครั้งสมัยพุทธกาล มีน้ำชนิดหนึ่งเรียกว่า "อัชบาล" หรือ น้ำปานะ ซึ่งพระสงฆ์สามารถฉันน้ำชนิดนี้ได้ตลอดทั้งวันแทนการขบเคี้ยวอาหารหลังมื้อเพลตามบัญญัติของพุทธศาสนา น้ำปานะนี้ใช้สมุนไพร หรือพืชผลชนิดที่มีความเผ็ดร้อน เช่น ขิง ข่า กระทือ ตะไคร้ เป็นต้น ต้มในน้ำร้อนและผสมน้ำตาลทรายแดงให้พอมีรสปะแล่มๆ  ซึ่งต่อมานิยมดื่มกันแพร่หลายมาถึงฆราวาสด้วย

ประโยชน์ของสมุนไพร คือ

          1. ใช้เป็นยาบำบัดรักษาโรค
          2. ใช้เป็นอาหาร
          3. ใช้เป็นเครื่องสำอางค์
          4. ใช้เป็นอาหารเสริมบำรุงร่างกาย
          5. ใช้ขับสารพิษ
          6. ใช้เป็นเครื่องดื่ม
          7. ช่วยส่งเสริมความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ

ประเภทของสมุนไพร

การจำแนกเครื่องดื่มสมุนไพรของไทยตามที่มาและกรรมวิธี นั้นแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. น้ำดื่มธรรมดา ซึ่งใช้ตามประเพณี หรือพิธี ได้แก่
          - น้ำที่นำไปอบด้วย เครื่องหอมได้แก่กระดังงาลนไฟลอยด้วยดอกมะลิหรือกลีบกุหลาบมอญใช้ถวายพระสงฆ์ในงานพิธีตามประเพณี เช่น งานทำบุญเลี้ยงพระ งานประเพณีสงกรานต์ เป็นต้น หรือเป็นน้ำที่ถวายเจ้านายในวังเพื่อใช้เสวยเป็นประจำ 

2. น้ำผลไม้ และน้ำดื่มซึ่งเกิดจากการปรุงแต่ง
          -จากน้ำอัชบาล หรือน้ำปานะ อันเป็นเครื่องดื่มของพระสงฆ์ในสมัยพุทธกาลนั้น ในเวลาต่อมาเนื่องจากเมืองไทยเป็นเมืองที่มีพืชพันธ์อุดมสมบูรณ์ และมีผลไม้นานาชนิดที่สลับหมุนเวียนกันตลอดทั้งปี จึงเกิดความนิยมนำเอาพืชสมุนไพรและผลไม้มาทำเป็นเครื่องดื่ม โดยอาศัยการปรุงแต่งรสชาติด้วยการเติมน้ำตาล หรือเกลือบ้าง เพื่อให้เกิดความอร่อยขึ้น อาทิ น้ำมะตูม น้ำกระเจี๊ยบ น้ำมะนาว น้ำใบเตย น้ำตะไคร้ และน้ำใบบัวบก เป็นต้น
แต่เดิมพืชและผลไม้ที่จะนำมาทำเป็นเครื่องดื่มนั้น มักจะเก็บมาสดๆ และใช้ทันที รสชาติที่ทำจึงมีความสด และทรงคุณค่าตามธรรมชาติ มาถึงปัจจุบันนี้เครื่องดื่มได้ถูกประยุกต์ขึ้นต่างรูปแบบ มีการนำวิทยาการสมัยใหม่มาใช้ในการผลิต มีการบรรจุในภาชนะแบบต่างๆ เพื่อความสะดวกต่อการใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องดื่มของไทยนั้นให้ทั้งรสชาติ และคุณประโยชน์ควบคู่กันไป คุณประโยชน์ที่กล่าวถึงคือ สรรพคุณทางยาที่ได้จากพืชผลที่นำมาเป็นเครื่องดื่มนั่นเอง อีกทั้งยังมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายตามธรรมชาติรวมอยู่ด้วย

กาแฟ
ชื่อทางพื้นเมืองอื่น :   -
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ :  Coffea arabica Linn,Coffea Liberica Hiern,Coffea robusta Linden
ฤทธิ์และประโยชน์ทางยา :  ประโยชน์ของกาแฟคล้ายกับชา เพราะมีสารสำคัญเป็นคาเฟอีนเช่นกัน เพียงแต่ปริมาณคาเฟอีนในกาแฟมีน้อยกว่าในใบชา คาเฟอีนมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางทำให้ร่างกายตื่นตัว กล้ามเนื้อทำงานดีขึ้นและยังมีฤทธิ์กระตุ้นระบบการหายใจและระบบขับปัสสาวะอีกด้วย ดังนั้นเมื่อดื่มกาแฟจึงรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่าและ รู้สึกอยากถ่ายปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ


หญ้าหนวดแมว
ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ :  พยัพเมฆ,บางรักป่า(ประจวบคีรีขันธ์)
อีตู่ดง (เพชรบูรณ์)
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ :  Orthosiphon aristatus Miq
ฤทธิ์และประโยชน์ทางยา :  ใช้ขับปัสสาวะ ขับนิ่ว ใบอ่อนใช้เป็นยาขับปัสสาวะที่มีประสิทธิภาพสูงเนื่องจากมี เกลือโปแตสเซียมมาก สามารถรักษาได้ทั้งนิ่วด่างที่เกิดจากแคลเซียม(หินปูน) นิ่วกรด ซึ่งเกิดจากกรดยูริก ใช้แก้โรคปวดตามสันหลังและบั้นเอว ใช้รักษาโรคเบาหวาน และลดความดันโลหิตอีกด้วย


ว่านหางจระเข้
ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ :  ว่านไฟไหม้ (ภาคเหนือ) หางตะเข้ (กลาง)
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ :  Aloe barbaclensis Mill
ฤทธิ์และประโยชน์ทางยา :  ใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
แผลไหม้เกรียมจากแสงแดด แผลไฟไหม้จากการฉายรังสี รักษาแผลในกระเพาะอาหาร มีฤทธิ์ต่อต้านการอักเสบ ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางค์หลายชนิด ยางสีเหลืองจากบริเวณเปลือกในมีฤทธิ์เป็นยาถ่าย ยาระบาย




บัวบก
ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ :  ผักหนอก (ภาคเหนือ) จำปาเครือ กะบังนอก, 
ผักหมอกช้าง ผักแว่น (จันทบุรี, ภาคใต้)
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ :  Centella asiafic (Linn) Urban
ฤทธิ์และประโยชน์ทางยา :  ใช้ในการสมานแผลและลดการอักเสพทำ
ให้แผลหายเร็ว ใบและต้นสดตำคั้นน้ำพอก แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลฝีหนองยับยั้ง
การแข่งตัวของเซลล์มะเร็ง ชนิด Ehnlich 
ascites และ Dalton's Lymyhoma ascites 
เจ็บอกแก้ช้ำใน พกซ้ำ และบำรุงกำลัง


ขิง
ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ :  ขิงเผือก(เชียงใหม่), ขิงแดง ขิงแกลง (จันทบุรี) สะเอ (แม่ฮ่องสอน)
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ :  Zingiber officnale Rose
ฤทธิ์และประโยชน์ทางยา :  มีฤทธิ์ เป็นยากันบูด กันหืน แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้จุกเสียด ขับลม 
บรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน แก้ไอ 
ขับเสมหะ ช่วยป้องกันการเกิดแผล
ในกระเพาะอาหาร


บุก
ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ :  บุกดาบดก(ชลบุรี) เมีย, เบือ (แม่ฮ่องสอน) บุกบ้าน, มันซูรัน(กลาง) หัวบุก(ปัตตานี)
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ :  Amorphohallus cam panulatus BL.ex Decne
ฤทธิ์และประโยชน์ทางยา:  สารที่มีความสำคัญที่พบได้ในหัวบุกบางพันธุ์ได้แก่ สารกลูโดแมนแนน ซึ่งใช้ประโยชน์ เป็นอาหาร ใช้ชื่ออุตสาหกรรมยา และเครื่องสำอางค์ เป็นสารที่ให้พลังงานต่ำช่วยลดน้ำตาลในเลือด ลดปริมาณโคเลสเตอรอลในเลือด และต้มได้อีกทั้งยังทำให้การดูดซึมของกูลโคสจากทางเดินอาหารลดลง

 

กระเจี๊ยบแดง
ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ :  กระเจี๊ยบ กระเจี๊ยบเปรี้ยว ส้มพอเหมาะ
(ภาคกลาง) ผักเก็งเค็ง ส้มเก็งเค็ง(ภาคเหนือ) ส้มตะเลงเครา(ตาก) ส้มปู (แม่ฮ่องสอน)
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ :  Hibiscus Sabdariffa Linn
ฤทธิ์และประโยชน์ทางยา :  ช่วยลดความดันโลหิต ช่วยขับปัสสาวะ รักษา นิ่วและโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ ช่วยย่อยอาหารประเภทไขมัน ช่วยระบาย ขับกรดยูริก ช่วยรักษาและป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน ลดอัตราการดูดซึมแอลกอฮอล์ สามารถยับยั้งการเจริญเติบโต และการสร้างสารพิษ แอลฟาทอกซินของเชื้อรา



คำฝอย
ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ :  ดอกคำ คำ คำหยุม คำยอง
ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Carthamus tinetorius Linn
ฤทธิ์และประโยชน์ทางยา :  มีฤทธิ์ยับยั้งไวรัสและเชื้อแบคทีเรียบำรุงโลหิต บำรุงประสาท แก้โรคผิวหนังลดไขมันในเลือด และช่วยป้องกันไขมันอุดตัน ช่วยลดปริมาณโคเลสเตอรอลในเลือด



ชุมเห็ดเทศ
ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ :  ชุมเห็ดใหญ่ ชุมเห็ด(ภาคกลาง), ลับมื่นหลวง ขี้คาก ขี้เหล็กสาร หมากกะลิ่งเทศ(ภาคเหนือ) ส้มเห็ด(เชียงราย) ตะสีพอ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ :  Cassia alata Linn
ฤทธิ์และประโยชน์ทางยา :  ใช้เป็นยาระบายแก้โรคท้องผูกได้ใบสดใช้ รักษาโรคกลาก และโรคผิวหนังอื่นๆ เช่นฝี แผลพุพองที่เป็นหนอง และโรคน้ำกัดเท้าได้



ตะไคร้
ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ :  ตะไคร้แกง(ภาคกลาง) ไคร(ภาคเหนือ) 
ไครไพเล็ก(ภาคใต้) คาหอม(เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน)
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ :  Cymbopogon citratus (DC.) Stapf
ฤทธิ์และประโยชน์ทางยา :  เป็นยาขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ ลดความร้อนในร่างกาย
มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา และยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียบางชนิด



ทองพันชั่ง
ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ :  ทองคันชั่ง หญ้ามันไก่ (ภาคกลาง)
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ :  Rhinacanthus nasutus Kurz
ฤทธิ์และประโยชน์ทางยา :  ต้น ใบ ราก มีสารประกอบออกซีเมททิล
แอนทราควิโนน(Oxymethylanthraquinone) ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา สารสกัดจากต้นและใบทองพันชั่งด้วยแอลกอฮอล์และคลอโรฟอร์ม มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคผิวหนังต่างๆ รวมทั้งกลากได้ผลดี ในส่วนของใบชงน้ำดื่มเป็นยาระบายและขับปัสสาวะ



ยอ
ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ :  ยอบ้าน(ภาคกลาง) มะตาเสือ(ภาคเหนือ)
แยใหญ่(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ :  Morinda Citrifolia Linn
ฤทธิ์และประโยชน์ทางยา :  ใช้เป็นยาแก้คลื่นไส้อาเจียน ผลยอสุกใช้รับ ประทานได้เพื่อช่วยบำรุงธาตุ เช่น ขับลม



หญ้าปักกิ่ง
ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ :  หญ้าเทวดา
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ :  Murdannia Ioriformis (Hassk) Rolla Rao et Kammathy
ฤทธิ์และประโยชน์ทางยา :  ใช้รักษาอาการของโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งในลำคอ ตับ มดลูก ลำไส้ ผิวหนัง และเม็ดเลือด โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม และมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และช่วยลดอาการข้างเคียงจากการฉายแสง



ใบเตย
ชื่อทางพื้นเมืองอื่นๆ :  เตยหอม, หวานข้าวไหม้, ทังลั้ง(จีน) 
ปาะแบ๊ะออริง (ปัตษ์ใต้)
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ :  Pandanus Odorus
ฤทธิ์และประโยชน์ทางยา :  เตยหอมมีรสเย็น หอม บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื้น จิตใจผ่องใส ส่วนต้นและรากใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้กษัยช้าเบาพิการได้ดี



หม่อน
ชื่อทางพื้นเมืองอื่นๆ :  หม่อน, ซึงเฮียะ (จีน)
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ :  Morus Alba Linn
ฤทธิ์และประโยชน์ทางยา :  ใบต้มเอาน้ำมาล้างตา แก้ตาแดง ตาแฉะ 
ฝ้า ฟาง รับประทานเป็นยาแก้ไอ และ
ระงับประสาท



มะตูม
ชื่อทางพื้นเมืองอื่นๆ :  มะตูม (ไทยภาคกลาง) มะปีน(เหนือ) กะทันตาเถร, ตุ่มตัง(ลานช้าง) ตูม
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ :  Aegle Marmelos
ฤทธิ์และประโยชน์ทางยา :  ผลอ่อนๆใช้เป็นยาบำรุงธาตุให้เจริญอาหารและขับลม ผลแก่แก้เสมหะและลม บำรุงธาตุไฟย่อยอาหารให้ละเอียด แก้ลมเสียดแทงในท้อง แก้มูกเลือด ส่วนรากมะตูมแก้พิษฝี พิษไข้ แก้สติเผลอ รักษาน้ำดี



มะนาว
ชื่อทางพื้นเมืองอื่นๆ :  มะนาว(ภาคกลาง) ส้มนาว(ภาคเหนือ)
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ :  Citrus Aurantifolia
ฤทธิ์และประโยชน์ทางยา :  ใบมะนาวใช้เป็นยากัดฟอกโลหิตระดูเมล็ด มะนาวคั่วให้เหลืองผสมเป็นยาขับเสมหะแก้โรคทรางของเด็ก รากใช้เป็นยาถอนพิษไข้กลับ หรือไข้ซ้ำ ฝนกับสุราทาแก้ปวดฝีได้ดีถอนพิษสำแดง แก้สติหลงลืม น้ำมะนาวให้
วิตามินซี แก้โรคเลือดออกตามไรฟัน



ฝรั่ง
ชื่อทางพื้นเมืองอื่นๆ :  มะแกล(แพร่), ย่ามู(ใต้) มะมั่น(เหนือ) 
มะสี ดา(อีสาน) ชมพู(ปัตตานี) 
มะปุ่น (สุโขทัย)
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ :  Psidium guajava Linn
ฤทธิ์และประโยชน์ทางยา :  ขับลม แก้ท้องเสีย ดับกลิ่นปาก มีวิตา มิน ซี สูง แก้โรคลักปิดลักเปิด ใบไม่แก่
ไม่อ่อนนัก 10-15 ใบ ปิ้งไฟพอเหลืองชง
กับน้ำร้อนดื่มแก้ท้องเสีย ผลดิบ 1 ผล
ฝานตากแดด บด



รางจืดหรือรางเย็น
ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ :  รางจืด รางเย็น ฮางจืด ฮางเย็น เถายาเขียว เครือเช้าเย็น
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ :  Milletia Kityana
ฤทธิ์และประโยชน์ทางยา :  รางจืดมีรสเย็น ถอนพิษ และผาเบื่อเมา แพทย์ตามชนบทใช้ปรุงเป็นยาเขียวถอนพิษไข้ และพิษทั้งปวง รากและเถาใช้เป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำแก้พิษร้อนทั้งปวง





บรรณานุกรม

จันทน์ขาว. 2526. ของดีจากพืชสมุนไพร-ว่านยา. 
        กรุงเทพฯ: ชีวิน. 199 หน้า.
ธารธรรมแก้ว เชื้อเมือง, เรียบเรียง. 2537. น้ำดื่มสมุนไพรจากพืช และผลไม้. พิมพ์ครั้งที่ 7. 
        กรุงเทพฯ: กำแก้ว. 111 หน้า.
"ประวัติสมุนไพร". สมุนไพรเพื่อสุขภาพ. 1,2 (ธ.ค. 43)
        91-95.
พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ. 2524. คู่มือการใช้สมุนไพร.
        กรุงเทพฯ: เมดิคัล มีเดีย. 256 หน้า.
พรสวรรค์ ดิษยบุตร. 2543. สมุนไพร: การใช้อย่างถูกวิธี. 
        กรุงเทพฯ: คัมปายอิมเมจจิ้ง จำกัด. 88 หน้า.
มูลนิธิโกมลคีมทอง. 2530. สมุนไพรชาวบ้าน. พิมพ์ครั้งที่ 2. 
        กรุงเทพฯ: โกมลคีมทอง. 168 หน้า.
วันดี กฤษณพันธ์. 2539. สมุนไพรน่ารู้. พิมพ์ครั้งที่ 2. 
        กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย. 267 หน้า.
หมอเสงี่ยม พงษ์บุญรอด. 2519. ไม้เทศเมืองไทยสรรพคุณของยาเทศและยาไทย. 
        กรุงเทพฯ: เกษมบรรณกิจ. 595 หน้า.
อมราภรณ์ วงษ์ฟัก. น้ำผลไม้และเครื่องดื่มสมุนไพร. 
        กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แม่บ้าน. 41 หน้า.

รวบรวมข้อมูลโดย : ฝ่ายวารสารและเอกสาร 

  สนเทศน่ารู้  ขึ้นด้านบน 

ปรับปรุงล่าสุด : 25 ธันวาคม 2549 19:52:50 น.