สนเทศน่ารู้ : 28 ธันวาคม วันถวายบังคมพระบรมราชอนุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช          

ความเป็นมา



พระบรมราชอนุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี

          


28 ธันวาคม วันถวายบังคมพระบรมราชอนุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช          
          28 ธันวาคม พ.ศ. 2311 เป็นวันปราบดาภิเษก พระเจ้าตากสิน เป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่ง ตรงกับ วันพุทธ เดือนอ้าย แรม  4 ค่ำ จุลศักราช 1130  ปีชวด สัมฤทธิศก ทรงพระนามว่า พระศรีสรรเพชญ์ หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 แต่เรียกขานพระนามของพระองค์ติดปากว่า สมเด็จพระเจ้าตากสิน หรือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ พระชาชนทุกหมู่เหล่าได้พร้อมใจกันถวายพระนามว่า “มหาราช” แด่ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” และรัฐบาลอันมี ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งเหล่าพสกนิกรชาวไทย ได้พร้อมใจกันสร้างพระบรมราชอนุสาวรีย์ประดิษฐาน ณ วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี ซึ่งศาสตราจารย์ศิลป์ พีรศรี คณบดีประติมากรรมมหาวิทยาลัยศิลปากรขณะนั้น เป็นผู้ออกแบบ
          ทางราชการได้ประกอบพระราชพิธีเปิด และถวายบังคมพระบรมราช อนุสาวรีย์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2497 และในวันที่ 28 ธันวาคม ปีเดียวกัน จึงมีรัฐพิธีเปิดเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทรงวางพวงมาลา ถวายราชสักการะ ต่อมาทางราชการจึงกำหนดให้วันที่ 28 ธ้นวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเสวยราชย์ปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ไทย เป็นวันถวายบังคมพระบรมราชอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 

            สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2277 ตรงกับปีขาล ขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 จุลศักราช 1096 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา การรับราชการ สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ตำแหน่งราชการที่ทรงไว้พระทัยโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิบัติมีอยู่มากมาย เช่น
             • ตำแหน่งมหาดเล็กรายงาน ซึ่งเป็นข้าหลวงเชิญท้องตราพระราชสีห์ขึ้นไปชำระความตามหัวเมืองเหนือ เพราะทรงมีความรู้ด้านกฎหมายเป็นอย่างดี 
             • ตำแหน่งนายกกระบัตรเมืองตาก 
             • ตำแหน่งเจ้าเมืองตาก
สมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง
             • พระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร อันเป็นตำแหน่งสูงสุดฝ่ายพลเรือน แต่บ้านเมืองเกิดศึกสงครามเสียก่อนท่านจึงต้องอยู่ช่วยราชการไม่ทันได้เดินทางไปรับตำแหน่ง
             ฝ่าวงล้อมทหารพม่า
             ในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2309 ซึ่งตรงกับวันเสาร์ ขึ้น 4 ค่ำเดือนยี่ จุลศักราช 1128 ปีจอ อัฐศก พระยาวชิรปราการ (ยศในขณะนั้น) เห็นว่ากรุงศรีอยุธยาคงต้องเสียทีแก่พม่า จึงตัดสินใจรวบรวมทหารกล้าราว 500 คน ตีฝ่าวงล้อมทหารพม่า โดยตั้งใจว่าจะกลับมากู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนให้โดยเร็ว พระยาวชิรปราการ ต้องการยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นที่มั่น เพื่อรวบรวมกำลังกลับมาตีพม่า จึงสั่งทหารทุกคนว่า “เมื่อกินข้าวปลาอาหารอิ่มแล้ว ให้ทุบหม้อข้าวหม้อแกงทิ้งเสีย คืนนี้เราจะตีเมืองจันทบุรีให้ได้ แล้วพรุ่งนี้เราจะกินข้าวเช้ากันในเมืองจันทร์”
             กู้ชาติ
             กรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อวันอังคาร ขึ้น 9 ค่ำเดือน 8 ปีกุน นพศก จุลศักราช 1129 ตรงกับ พ.ศ. 2310 และสมเด็จพระเจ้าตากสิน สามารถกู้กลับคืนมาได้ เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก ซึ่งตรงกับวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2310 รวมใช้เวลารวบรวมผู้คนจนเป็นทัพใหญ่กลับมากู้ชาติด้วยระยะเวลาเพียง 5 เดือนเท่านั้น
             ตั้งราชธานีใหม่
             พระเจ้าตากสินทรงเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาเสียหายมากมายที่จะปฏิสังขรณ์ จึงให้ย้ายมาสร้างเมืองหลวงใหม่ที่กรุงธนบุรี  เพราะเห็นว่าไม่ใหญ่โตเกินกำลังมีป้อมปราการที่แข็งแรงสามารถ ป้องกันข้าศึกศัตรูได้  เนื่องจากมีป้อมกันข้าศึกถึง 3 ป้อม  อีกทั้งมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร และเป็นเมืองใกล้ทะเลสามารถติตต่อค้าขายกับต่างประเทศได้สะดวก
             กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันถวายบังคมพระบรมราชอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
             1) ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน สถานที่ราชการ
             2) จัดนิทรรศการเผยแพร่พระราชประวัติและพระเกียรติคุณ ของพระเจ้าตากสินมหาราชอันมีต่อปวงชนชาวไทย
             3) ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การนำพวงมาลาไปถวายบังคมพระบรมราชานุสรณ์ การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ต่อสังคม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล 

********************************************************************
อ้างอิง 

ธนากิต ประเพณี พิธีมงคล และวันสำคัญของไทย. กรุงเทพฯ : ชมรมเด็ก, 2539.  
ภาพประกอบ : http://www.wangdermpalace.com/kingtaksin/thai_thegreat.html      

รวบรวมข้อมูลโดย : งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด

                   สนเทศน่ารู้  ขึ้นด้านบน 


ปรับปรุงล่าสุด : 21 ธันวาคม 2549 17:37:48 น.