สนเทศน่ารู้ : วันกีฬาแห่งชาติ 16 ธันวาคม

           รัฐบาลได้ทำการส่งเสริมทางด้านการกีฬาของไทยด้วยดีเสมอมา เพราะตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของการเล่นกีฬาว่า นอกจากจะเป็นการออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรงสดชื่นมีพลานามัยที่ดีแล้ว การกีฬายังเป็นเครื่องช่วยผ่อนคลายความเครียด ช่วนปรับปรุงในด้านความคิดและอุปนิสัยให้ประชาชนในชาติ เป็นผู้มีความเสียสละ รู้แพ้รู้ชนะรู้อภัย และมีความสามัคคีต่อกัน

 

ประวัติความเป็นมาของวันกีฬาแห่งชาติ

           เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ ๔ ณ กรุงเทพมหานคร และทรงได้รับเหรียญทองจากการแข่งขันกีฬาเรือใบประเภท โอ.เค. และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งประทับยืนบนแท่นรางวัลร่วมกับนักกีฬาที่ชนะที่ ๒ และที่ ๓ ในพิธีปิดการแข่งขัน ณ สนามศุภชลาศัย ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาแหลมทอง
ครั้งที่ ๔ ในระหว่างวันที่ ๖ - ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ จึงถือได้ว่าในวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็นวันประวัติศาสตร์ทางการกีฬาาที่จะได้เทิดพระเกียรติและรำลึกถึง พระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเป็นนักกีฬาตัวแทนของชาติไทย ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง และเป็นวันสิริมงคลแก่บุคคลในวงการกีฬาทั้งมวลที่จะได้ถือเป็นนิมิตหมายอันดีของการกีฬาของชาติ คณะกรรมการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้ประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๒๙ เมื่อวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๙ พิจารณาเห็นว่า เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่เคยเป็นนักกีฬาทีมชาติไทย และเพื่อเป็นการกระตุ้นเร่งเร้าและเผยแพร่ให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญและคุณค่าของการกีฬา จึงมีมติเห็นควรนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบให้กำหนดวันที่ ๑๖ ธันวาคม เป็นวันกีฬาแห่งชาติ นอกเหนือจากกีฬาเรือใบแล้ว แบดมินตันก็เป็นกีฬาอีกประเภทหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดมากเช่นกัน ในหอประชุมพระราชวังจิตรลดาฯ ปรับแต่งเป็นสนามแบดมินตันมาตรฐาน พระองค์จะทรงแบดฯ ส่วนมากจะเป็นตอนเย็นของวันศุกร์ และเช้าวันอาทิตย์ พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทางการกีฬานี้ เป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลกว่า พระองค์ทรงเป็นนักกีฬาอย่างแท้จริงและทรงสนับสนุนพีฬาจนเป็นที่ปรากฏชัด
           ดังนั้นในการประชุมใหญ่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล ครั้งที่ ๒๙ ที่เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี โดยมีนายฮวน อันโตนีโอ ซามาร้านซ์ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล เป็นประธานการประชุมพร้อมทั้งสมาชิกเข้าร่วมการประชุมอีก ๘๗ ประเทศ ได้มีมติเอกฉันท์ให้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญดุษฎีกิตติมศักดิ์ ของโอลิมปิกสากล คือ "อิสริยาภรณ์โอลิมปิกชั้นสูงสุด" (ทอง) แด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน นับเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของโลก ที่ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญโอลิมปิกชั้นสูง
 

ประวัติกีฬาแห่งชาติ

          "กีฬาแห่งชาติ" ได้วิวัฒนาการมาจากกีฬาเขต ซึ่งมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าให้ตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทยขึ้น เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๗ โดยการแข่งขัน กีฬาเขต ได้ริเริ่มขึ้นพร้อมๆ กับการ ก่อตั้งองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งได้วางโครงการในอันที่จะขยายการส่งเสริมกีฬาออกไปให้ทั่วราชอาณาจักรด้วยการ จัดการแข่งขันระหว่างจังหวัดภายในภาคต่างๆ ของประเทศขึ้นพร้อมกัน แต่โดยที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการ แข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ ๕ เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๐๙ ซึ่งโดยปกติจะต้องใช้เวลาเตรียมการประมาณ ๓-๔ ปี และองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทยต้องรับภาระในด้านธุรการของงานครั้งนั้น จึงทำให้โครงการจัดการแข่งขันกีฬาเขต ต้องเลื่อนไปโดยไม่มีกำหนดจนกระทั่งเสร็จสิ้นการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ ๕ จึงเริ่มดำเนินการใหม่ความคิดในอันที่จะรวบรวมกีฬาทั่วประเทศ รวมทั้งการขยายการส่งเสริมกีฬาออกไปให้ทั่วถึงด้วยวิธีการ จัดการแข่งขันเป็นระดับจังหวัดและภาคนี้ ได้ทวีมากขึ้นเมื่อสิ้นการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ ๕ อันเป็นระยะที่ประชาชนได้ให้ความสนใจแก่การกีฬาอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว คณะกรรมการองค์การส่งเสริมการกีฬาแห่งประเทศไทยจึงได้หยิบยกโครงการนี้ ขึ้นมาพิจารณาใหม่อย่างจริงจัง และในเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๑๐ ได้มีมติยืนยันที่จะจัดการแข่งขันกีฬาภาคขึ้น เป็นงานประจำปีกำหนดวันที่ ๙ ธันวาคม อันถือได้ว่าเป็นวันที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์การกีฬาของไทย โดยเป็นวันที่เปิดการแข่งขันเอเชี่ยเกมส์ครั้งที่ ๕ ที่กรุงเทพฯ เมื่อปี ๒๕๐๙ ในขึ้นปฏิบัติการได้มีความเห็นว่าเพื่อเป็นการประหยัด และเริ่มต้น ควรจัดการแข่งขันที่ได้รับความนิยมแพร่หลาย ๔-๕ ประเภทก่อน เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล แบดมินตัน ลอนเทนนิส และได้มีการวางแผนในรายละเอียดรวมทั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายต่างๆ ขึ้นพร้อมที่จะปฏิบัติการได้ในเดือนธันวาคม ๒๕๑๐ ตามแผนการขั้นแรกนี้ องค์การฯ ได้จัดกลุ่มจังหวัดใกล้เคียงขึ้นในภาคสมมติ ๕ ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และจะได้ขอให้จังหวัดต่างๆ ที่อยู่ในภาคหนึ่งเลือกจังหวัดศูนย์กลางหรือจังหวัดหัวหน้าภาคกันเอง จังหวัดหัวหน้าภาคนี้ จะเป็นตัวแทนจังหวัดอื่นๆ จัดการแข่งขันกีฬาระหว่างจังหวัดภายในภาค เพื่อให้ได้นักกีฬาผู้แทนของภาคนี้ขึ้นไว้ องค์การฯ จะเป็นฝ่านนำนักกีฬาของภาคไปแข่งขันชิงชนะเลิศที่กรุงเทพฯ ต่อไป
 

วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันกีฬาแห่งชาติ

   ๑. เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมระลึกถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ในฐานะที่เคยเป็นนักกีฬาทีมชาติไทย โดยเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ ๔ ณ กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ และทรงได้รับเหรียญทองจากการแข่งขันแรือใบประเภท โอ.เค.

   ๒. เพื่อให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยเห็นความสำคัญและคุณค่าของการกีฬา การออกกำลังกาย และมีส่วนร่วมในกิจกรรมกีฬามากยิ่งขึ้น

   ๓. เพื่อชักจูงให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกีฬาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเล่นกีฬา และให้การสนับสนุนการกีฬา

   ๔. เพื่อเป็นการจัดหาทุนในการส่งเสริมและดำเนินกิจกรรมกีฬาของชาติ

   ๕. เพื่อเป็นจุดศูนย์รวมการคืนสู่เหย้าของนักกีฬาในอดีตและปัจจุบันงานวันกีฬาแห่งชาติ ซึ่งจัดโดยการกีฬาแห่งประเทศไทย จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อน้อมรำลึกถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อประกาศเกียรติคุณแก่เหล่านักกีฬา และเจ้าหน้าที่ที่ร่วมกันสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติ

คัดลอก, อ้างอิง 

วรนุช อุษณกร.ประวัติวันสำคัญที่ควรรู้จัก.พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ:โอเดียนสโตร์,๒๕๔๓
วันสำคัญของไทย.ธนากิต.กรุงเทพฯ:ชมรมเด็ก,2541
http://www.navy.mi.th

ข้อมูลโดย : กลุ่มนักศึกษาฝึกงาน งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด

                    สนเทศน่ารู้  ขึ้นด้านบน 
 


ปรับปรุงล่าสุด : 13 ธันวาคม 2556 19:34:20 น.