สนเทศน่ารู้ :: เรื่องของไก่

เรื่องของไก่ ใครว่าไม่สำคัญ

          นับเป็นเวลาหลายพันปีมาแล้วที่มนุษย์ได้จับ ไก่ป่าเพื่อนำมาเลี้ยงเป็น ไก่บ้าน ในประเทศจีนมีการเลี้ยงไก่กันมาประมาณกว่า 3,000 ปี ไก่ที่เลี้ยง ณ กรุงบาบิโลน ได้ถูกนำไปจากอินเดียเมื่อ 2,500 ปี หลังจากนั้นอีกราว 100 ปี ต่อมาก็ขยายพันธุ์ไปที่ประเทศกรีซ ที่กรุงโรมพบว่ามีการเลี้ยงไก่มาตั้งแต่ก่อนคริสต์ศตวรรษ แต่การเลี้ยงไก่กันอย่างจริงจังนั้นเริ่มมาเมื่อประมาณกว่า 100 ปีนี้เอง และสิ่งที่ช่วยให้การเลี้ยงไก่แพร่หลายในอดีต ก็คือ การชนไก่ ซึ่งเป็นได้ทั้งเกมกีฬาและการพนัน ที่นับว่าเป็นสิ่งจูงใจของนักเลี้ยงไก่ทั่วไป ต่อมามนุษย์มีความต้องการอาหารเพิ่มมากขึ้น เนื้อและไข่ของไก่ซึ่งมีรสชาติอร่อย ให้คุณค่าทางอาหารสูงจึงได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่ง ทำให้มีการพัฒนาสายพันธุ์ไก่เรื่อยมา จนกระทั่งมีการเลี้ยงขยายพันธุ์ไปทั่วโลก

ต้นตระกูลของไก่

        ไก่ เป็นสัตว์ปีกประเภทนก ต้นตระกูลมาจากสัตว์เลื้อยคลาน ดังปรากฏพบหลักฐานจากซากดึกดำบรรพ์ของนกชนิดแรกในโลก ที่แคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมัน เมื่อปี ค.ศ. 1861 ซากดังกล่าวมีอายุประมาณ 130 ล้านปี มีลักษณะกึ่งนกกึ่งสัตว์เลื้อยคลาน คือที่ปากมีฟัน มีเล็บยื่นออกมาจากปลายปีกและมีกระดูกหางยาว ซึ่งเป็นลักษณะของสัตว์เลื้อยคลาน ในขณะเดียวกันก็มีขนปกคลุมลำตัวเช่นเดียวกับนก ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์เรียกซากนี้ว่า “ อาร์คีออพเทอริกซ์ ”
จาก “ อาร์คีออพเทอริกซ์ ” ได้พัฒนาการสืบทอดต่อกันมาจนกระทั่งกลายเป็นนกที่มีขนาดของรูปร่าง สี และอุปนิสัยที่แตกต่างกันออกไปกว่า 9,000 ชนิด สามารถจัดเป็นกลุ่มใหญ่ๆได้ 27 อันดับ และ 1 ใน 27 อันดับ คือ Galliformes ซึ่งเป็นอันดับของ ไก่ป่า ไก่งวง ไก่ต๊อก ไก่ฟ้า ฯลฯ และถ้าแยก ไก่ เหล่านี้ออกเป็นวงศ์ ไก่ป่าและไก่ฟ้าจัดอยู่ในวงศ์ Phasianidae ไก่ต็อกอยู่ในวงศ์ Numididdae และไก่งวงอยู่ในวงศ์ Meleagrididae 

ไก่ป่า ( Jungle fowl ) 

        ไก่ป่า มีลักษณะสำคัญที่ผิดกับนกชนิดอื่นๆ คือ บนหัวมีหงอนที่มีลักษณะเป็นเนื้อไม่ใช่หงอนที่เป็นขน มีเหนียงสองข้างห้อยลงมาที่โคนปากและคาง ที่บริเวณหน้าและคอนั้นมีลักษณะเป็นหนังเกลี้ยงๆ ไม่มีขน ส่วนขนตามตัวทั่วๆ ไปมีสีสันสวยงาม ขนหางตั้งเรียงกันเป็นสันสูงตรงกลาง มีขนหาง 14 – 16 เส้น 
เส้นกลางยาวปลายแหลมและอ่อนโค้ง แข้งมีเดือยข้างละอันเป็นอาวุธ ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้และสีขนไม่ฉูดฉาดสวยงามเท่าตัวผู้ แข้งไม่มีเดือย หงอนและเหนียงมีขนาดเล็กมาก จนกระทั่งบางตัวแทบจะไม่มี ไก่ป่า มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย ตลอดไปจนถึงประเทศจีน เกาะไหหลำ อินเดีย พม่า ไทย ลาว เขมร เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ไก่ป่า เป็นบรรพบุรุษของ ไก่บ้าน แตกต่างกันตรงที่ไก่ป่า มีขาเป็นสีเทาและตรงบริเวณโคนหางมีสีขาวเห็นเด่นชัด

        ในอดีต ตั้งแต่สมัยก่อนกรุงสุโขทัยเป็นต้นมา จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ประเทศไทยยังมีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์และมีสัตว์ป่ามากมายหลายประเภท โดยเฉพาะนกชนิดต่างๆ การล่านกเพื่อเป็นอาหารนับว่าเป็นเรื่องปกติของชาวบ้านทั่วๆไป และถือว่าเป็นอาชีพอย่างหนึ่ง ทำให้นกหลายชนิดต้องสูญพันธุ์ไปอย่างน่าเสียดาย ในจำนวนนกที่ถูกล่าเพื่อเป็นอาหารนั้น ไก่ป่า ซึ่งเป็นนกประเภทหนึ่งที่มีอยู่อย่างชุกชุมถูกล่ามากที่สุด เนื่องจากว่าเนื้อมีรสอร่อย ถ้าไม่สังเกตให้ดี ไก่ป่า จะไม่มีความแตกต่างจาก ไก่บ้าน มากนัก เนื่องจากว่า ไก่บ้าน สืบสายพันธุ์มาจาก ไก่ป่า โดยมนุษย์ได้นำ ไก่ป่า มาเลี้ยงไว้เพื่อเป็นสัตว์ในครัวเรือนเป็นเวลานานกว่า 4,400 ปี นอกจากจะเรียกนกชนิดนี้ว่า ไก่ป่า แล้ว บางครั้งยังเรียกว่า ไก่เถื่อน อีกด้วย ปัจจุบันไก่ป่าเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 2

        ถึงแม้ว่า ไก่ป่า จะถูกตามล่าอยู่เป็นประจำ แต่เนื่องจาก ไก่ป่า มีการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว จำนวนของ ไก่ป่า ตามธรรมชาติจึงคงมีเหลืออยู่อีกเป็นจำนวนมาก และจัดเป็นนกประจำถิ่นที่พบได้ทั่วทุกภาค ตั้งแต่บนที่ราบต่ำ จนถึงระดับความสูง 1,800 เมตร ในต่างประเทศเคยพบที่ระดับความสูง 2,000 เมตร ซึ่งนับว่าสูงมากทีเดียว

ไก่ป่าดั้งเดิมมีอยู่ 4 ประเภท คือ

1. ไก่ป่าไทย หรือ Red Jungle fowl ตัวผู้มีลักษณะที่สำคัญ คือ หน้าอกและใต้ท้องมีสีดำ ตัวเมียหน้าอกสีน้ำตาลแกมแดง บนหลังมีลายเลือนๆไม่ชัดเจน พบในเอเซีย เช่น อินเดีย พม่า ไทย อินโดนีเซีย
สำหรับ ไก่ป่าไทย ในประเทศไทยแยกออกเป็นชนิดย่อยอีก 2 ชนิด คือ
        - ไก่ป่าตุ้มหูขาวหรือไก่ป่าอีสาน 
        - ไก่ป่าตุ้มหูแดงหรือไก่ป่าพันธุ์พม่า
2. ไก่ป่าลังกา หรือ La Fayette’s Jungle fowl ตัวผู้มีสีแดงแทบจะทั้งตัว หน้าอกและใต้ท้องก็เป็นสีแดง ผิดกับไก่ป่าไทยซึ่งหน้าอกและใต้ท้องมีสีดำ ปลายปีกและหางสีดำแกมม่วง ตุ้มหูขาว ตัวเมียหน้าอกเป็นลายเลือนๆสีน้ำตาล ปลายปีกและหางมีลายขวาง มีเฉพาะในเกาะลังกา
3. ไก่ป่าอินเดีย หรือ Sonnerat’s Jungle fowl ตัวผู้ขนสร้อยคอกลมมนและมีจุดขาวๆ บนหลัง หน้าอกและใต้ท้องเป็นสีเทามีลายตามขอบขนดำๆ ปลายปีกและหางดำแกมเขียว แข้งสีดำ ตุ้มหูแดง ตัวเมียหน้าอกขาวลายขอบขนดำ ปีกและหางมีลายเลือนๆมีในภาคกลางและภาคใต้ของอินเดีย
4. ไก่ป่าชวา หรือ Green Jungle fowl ตัวผู้ขนสร้อยคอสั้นและกลมมนสีเขียว ตัวเมียหน้าอกสีน้ำตาลคล้ำ ส่วนบนของลำตัวมีลายดำทั่วไป มีในเกาะชวาและหมู่เกาะเล็กๆทางทิศตะวันออก

        จาก ไก่ป่า ได้พัฒนาเรื่อยมาจนกระทั่งกลายเป็น ไก่อู ซึงเป็นต้นตระกูลของ ไก่ชน ในระยะเริ่มแรก ไก่อู มีหลายสี รูปร่างมีขนาดใหญ่แต่ปราดเปรียว ไข่ดกและมีเนื้อมาก เมื่อถูกนำมาเป็น ไก่ชน จะมีความทรหดอดทน แข็งแรง และมีความทนทานในการต่อสู้ 

        ไก่ชน มีประวัติเล่าขานกันมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ( 356 – 323 ปี ก่อนคริสตกาล ) ซึ่งเป็นจอมจักรพรรดิของกรีก ได้กรีธาทัพแผ่อิทธิพลขยายอาณาจักรเข้ามายังประเทศอินเดีย มีเรื่องเล่ากันว่าแม่ทัพนายกองได้เห็น การชนไก่ ที่อินเดีย จึงได้นำ ไก่ชน ไปขยายพันธุ์ ณ เมือง
อเล็กซานเดรีย ซึ่งอยู่ริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน หลังจากนั้นได้นำไก่ที่ขยายพันธุ์ได้ไปฝึกให้มีชั้นเชิงการต่อสู้แบบโรมัน เพื่อนำไปต่อสู้ในสนามโคลีเซียม

        เมื่ออังกฤษปกครองอินเดียได้นำ ไก่ชน จากอินเดียเข้าไปเผยแพร่ในอังกฤษ โดยยอมรับว่า กีฬาไก่ชน เป็นเกมกีฬาที่ควรได้รับความนิยมจากบุคคลชั้นสูงเช่นเดียวกับการแข่งม้าและฟันดาบ นอกจากนี้ กีฬาชนไก่ ยังได้เผยแพร่เข้าไปในประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

ไก่ชนในเอเซีย

        กีฬา ไก่ชน หรือ ตีไก่ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในประเทศแถบเอเซีย เช่น ไทย พม่า ลาว เขมร มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย การชนไก่ ในแถบเอเซียมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน และเชื่อว่า ไก่ชน มีพัฒนาการมาจาก ไก่ป่า ซึ่งมนุษย์นำมาเลี้ยงไว้เพื่อเป็นอาหารประจำบ้าน เมื่อ ไก่ป่า มาอยู่กับคนนานเข้า ก็ขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก นิสัยประจำตัวของไก่คือหวงถิ่นที่อยู่ ถ้ามีไก่ตัวอื่นๆ ข้ามถิ่นเข้ามาก็จะออกปกป้องที่อยู่อาศัย หรือเมื่อมีการแย่งผสมพันธุ์กับตัวเมีย ไก่ตัวผู้ก็จะตีกัน ซึ่งทำให้เกิดการถือหางกันระหว่างเจ้าของไก่ และด้วยนิสัยของนักพนันจึงทำให้มีการแข่งขันกัน การพัฒนาสายพันธุ์ของ ไก่ป่า จึงมีวิวัฒนาการเรื่อยมา


ประดู่แดงหางดำ

ไก่ชนในเมืองไทย

        ในอดีต พันธุ์ ไก่ชน ไทยเป็น “ มรดกของไทย “ มาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งถึงกรุงรัตนโกสินทร์ มีหลายสายพันธุ์ด้วยกัน แต่ที่สำคัญที่สุดคือพันธุ์ “ ประดู่หางดำ ” และ “ เหลืองหางขาว ” ในสมัยกรุงสุโขทัย ไก่ชนประดู่หางดำพันธุ์แสมดำ ได้ชื่อว่า “ ไก่พ่อขุน ” เนื่องจากว่าเป็นไก่ที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงโปรด สมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงนำ “ ไก่เหลืองหางขาว ” จากบ้านกร่าง เมืองพิษณุโลก ไปชนชนะไก่ของพระมหาอุปราชาที่กรุงหงสาวดี ไก่พันธุ์นี้เป็นที่นิยมเลี้ยงกัน ตามซุ้มที่เลี้ยง ไก่ชน มักจะมี ไก่ชนเหลืองหางขาว เลี้ยงไว้เพื่อเป็นไก่นำโชค และนิยมเรียกชื่อว่า “ ไก่เจ้าเลี้ยง ” 

 


ประดู่หางดำ

ไก่เหลืองหางขาว

        เนื่องจากประเทศไทยอยู่ใกล้กับอินเดีย จึงทำให้ไทยได้รับขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และความเชื่อทางศาสนา ตลอดจนศิลปวิทยาการต่างๆมาจากอินเดียหลายอย่าง อาจจะเป็นไปได้ที่ไทยได้นำ ไก่ชน จากอินเดียมาเพาะเลี้ยง และคงจะมีการนำ ไก่ชน เข้ามาก่อนที่อังกฤษจะนำ ไก่ชน ไปจากอินเดีย ทั้งนี้เนื่องจากว่า สมเด็จพระนเรศวรฯ ได้ทรงใช้ ไก่ชน ดำเนินกลยุทธ์ทางการเมืองมาก่อนที่อินเดียจะเสียเอกราชให้แก่อังกฤษเสียอีก แต่อย่างไรก็ตามอาจจะเป็นไปได้ที่ ไก่ชน ของไทยมีมานานก่อนแล้ว แต่ ไก่ชนพันธุ์อินเดีย คงจะเข้ามาในประเทศไทยพร้อมๆ กับศาสนาพราหมณ์และวัฒนธรรมอื่นๆ

        การ ต่อไก่ ชนไก่ และการ ฝึกไก่ มีปรากฏอยู่ในวรรณคดีไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็มีการละเล่น เพลงปรบไก่ และ การชนไก่ ในฤดูที่ว่างเว้นจากการทำเกษตรกรรมเรื่อยมา จนกระทั่งมาถึง ยุคสมัยเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย ( จอมพล ป. พิบูลสงคราม ) ที่ส่งเสริมการทำสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ ได้นำ ไก่พันธุ์เล็กฮอร์น พันธุ์ออสตราลอฟ และพันธุ์โรดไอส์แลนด์เรด มาทำการผสมพันธุ์กับ ไก่ชน ที่ชาวบ้านเลี้ยงกันอยู่จนกระทั่งกลายเป็นไก่พันธุ์ทาง ทั้งยังประกาศให้เลิกเลี้ยง ไก่ชน อีกด้วย ไก่ชนเลือดแท้ในยุคสมัยนั้นจึงมีเหลือแอบเลี้ยงกันบางแห่งเท่านั้น ทำให้วงการไก่ชนของไทยซบเซาลงไป ครั้นถึงรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้มีการฟื้นฟู กีฬาไก่ชน ขึ้นมาอีกจนกระทั่งทุกวันนี้ ปัจจุบันการเลี้ยง ไก่ชน แยกออกได้หลายประเภท ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่างๆตามความนิยม เช่น เลี้ยงเพื่อการค้า โดยการขายเป็นพ่อพันธุ์ในราคาที่สูง หรือเพื่อการนำไปแข่งขัน และเลี้ยงเป็นอุตสาหกรรมในฟาร์มขนาดใหญ่ เพื่อทำธุรกิจส่งออก เป็นต้น

 


ประดู่ขาม

ดองกี่

ไก่กับสังคมไทย

        ความผูกพันระหว่างคนไทยกับ ไก่ มีมานานจนไม่อาจประมาณเวลาได้ ในสมัยอดีตตามชนบทแทบทุกหมู่บ้านนิยมเลี้ยง ไก่ ไว้สำหรับเป็นสัตว์เลี้ยงประจำบ้าน เพื่อไว้ดูเล่น เป็นอาหารหลักและอาหารเสริม หรือเลี้ยงไว้เพื่อใช้ในการชนแข่งขัน ไก่ จึงมีความเกี่ยวพันกับสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ของสังคมไทยนานับประการ อาทิ 

  • ก ไก่ เป็นพยัญชนะตัวแรกของอักษรไทย 
  • ไก่ เป็นสัตว์เสี่ยงทายและเซ่นไหว้บูชาเทวดาอารักษ์ 
  • ไก่ เป็นตัวเอกในนิทานหรือบทขับร้องสำหรับเด็ก 

        ในวรรณคดีไทยหลายๆ เรื่อง เช่น ลิลิตพระลอ ตอน พระลอตามไก่ 


“ …ปู่เลือกไก่ตัวงาม ทรงทรามวัยทรามแรง สร้อยแสงแดงพพราย
ขนเขียวลายยยับ ปีกสลับเบญจรงค์ เลื่อมลายรงค์หงสบาท… ” 

        หรือเสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม 
ทั้งนกยูงฝูงหงส์มันลงเกลื่อน
จับไก่เถื่อนมาเลี้ยงฟังเสียงขัน
พูดให้เพลินเดินพลางกลางอรัญ
แกล้งให้หมั่นดูแลฝูงแกกา
ฯลฯ

ไก่กับภาษาไทย

        ก ไก่ เป็นพยัญชนะตัวแรกของไทย ที่เชื่อกันว่าดัดแปลงมาจากอักษรของอินเดีย ในอดีตพยัญชนะตัวนี้ยังไม่มีชื่อเรียก มีแต่เพียงรูปอักษร จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2442 สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้นิพนธ์แบบเรียนเร็วขึ้น เพื่อให้เด็กสามารถจดจำการอ่านได้ง่ายและเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน โดยเลือกคำที่เด็กเห็นและคุ้นเคยเสมอๆ จึงเป็นที่มาของแบบเรียน ก ไก่ ข ไข่ ฯลฯ 

        ไก่ เป็นสัตว์ที่รวมอยู่ในกลุ่มปีนักษัตรไทย คือ ปีระกา และไก่ ยังเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดลำปาง “ เมืองไก่ขาว ” ด้วย ไก่ นับว่าเป็นสัตว์ที่ใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของคนไทยมากเช่นเดียวกับ สุนัข และแมว นอกจากจะเลี้ยง ไก่ ไว้ในบ้านแล้ว ตามบริเวณวัดวาอารามมักจะเลี้ยง ไก่แจ้ หรือ ไก่ฟ้า 
ไว้เพื่อประดับในวัด จนอาจจะเป็นที่มาของสำนวนเปรียบเทียบที่ได้ยินกันเสมอว่า “ สมภารต้องไม่กินไก่วัด ”

        กิริยาอาการ และคุณลักษณะของ ไก่ ถูกมาใช้เปรียบเทียบหรือเปรียบเปรยเป็นสุภาษิตและคำพังเพยในภาษาไทยมากมาย อาทิ

ไก่กินข้าวเปลือก : ธรรมชาติของไก่ชอบกินข้าวเปลือก อุปมาว่าตราบใดที่ไก่ยังกินข้าวเปลือก คนก็ยังชอบกินสินบนอยู่ตราบนั้น
ไก่แก่แม่ปลาช่อน : หญิงมีอายุที่มีมารยาและเล่ห์เหลี่ยมมาก หรือมีกิริยาจัดจ้าน
ไก่ขึ้นรัง : เวลาพลบค่ำ
ไก่เขี่ย : เขียนหวัดยุ่งจนเกือบอ่านไม่ออก
ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง : ไก่งามตามธรรมชาติ คนแต่งเพิ่มเติม
ไก่นา : โง่
ไก่ได้พลอย : ผู้ที่ไม่รู้จักคุณค่า หรือราคาของที่พบ
ไก่บินไม่ตก : บ้านเรือนหนาแน่น
ไก่รองบ่อน : เป็นตัวสำรอง
ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ : รู้ความลับของกันและกัน รู้เท่าทัน
ไก่โห่ : เวลารุ่งสาง ก่อนเวลา ( มาตั้งแต่ไก่โห่ )
ไก่อ่อน : อ่อนหัด ไม่ชำนาญ
งงเป็นไก่ตาแตก : อาการของคนที่ทำอะไรไม่ถูกในสถานการณ์นั้นๆ
เจ้าชู้ไก่แจ้ : อาการของผู้ชายที่เกี้ยวผู้หญิงป้อไปมา เช่นไก่แจ้ที่เดินกรีดกรายป้อตัวเมีย
ซีดเหมือนไก่ต้ม : เปรียบเทียบใบหน้าของผู้ที่ฟื้นจากไข้ หรือหวาดกลัว
ตัดหางปล่อยวัด : สำนวนนี้มาจากการสะเดาะเคราะห์ของคนโบราณ ที่เอาไก่มาตัดหางแล้ว
นำไปปล่อยที่วัด คือเป็นผู้ที่ไม่มีใครสนใจไยดี
ตื่นก่อนไก่ : ตื่นเช้า
ปล่อยไก่ : ปล่อยความโง่ให้ผู้อื่นเห็น
เป็ดขันประชันไก่ : เปรียบเทียบกับผู้ทำสิ่งที่ตนทำไม่ได้ แข่งกับผู้ที่ชำนาญกว่า
ฯลฯ

        ปัจจุบันนี้ ไก่ นับได้ว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญ เนื่องด้วย ไก่ เป็นสินค้าส่งออกอันดับต้นๆ ของประเทศ โดยมีมูลค่าการส่งออกไม่ต่ำกว่าปีละหลายร้อยล้านบาท จนสามารถทำให้เจ้าของธุรกิจ กลายเป็นอภิมหาเศรษฐีติดอันดับได้.



บรรณานุกรม

ดอน จาริก. “ ไก่ชนสมเด็จพระนเรศวรและของดีเมืองพิษณุโลก, ” เที่ยวรอบโลก. 9(97) : 93-99 ;
กันยายน 2533.
นิสิต ตั้งตระการพงษ์. ไก่ชนพระนเรศวรมหาราช. พิษณุโลก: ตระกูลไทย. 2535.
สัตว์ ๑๒ นักษัตรไทย. กรุงเทพ : สารคดี,2539.
สุวภา แก้วสุข และประวิทย์ สุวณิชย์. “ ไก่งามเพราะขน,” สารคดี. 3(36) : 104-119 ; กุมภาพันธุ์ 2531.
อำพล สุวรรณธาดา. “ ไก่ชน, ” ศิลปวัฒนธรรม. 18(8) : 164-170 ; มิถุนายน 2540.
http://www.chingmaizoo.com/animal/pg-an 056.asp
http://www.gaichon.com/story4.htm

รวบรวมข้อมูลโดย : ฝ่ายวารสารและเอกสาร 

  สนเทศน่ารู้  ขึ้นด้านบน 



ปรับปรุงล่าสุด : 01 เมษายน 2554 16:12:28 น.